“ศ.ดร.นฤมล”ผู้แทนการค้าไทยรับนโยบาย“เศรษฐา” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวหารือ”กิติรัตน์ “ กลต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเปิดกองทุน Green Economy ก.พ.ปี 2567 หวังเป็นแหล่งเงินเสริมแกร่งให้ธุรกิจไทยลงทุนธุรกิจสีเขียว รับเทรนด์โลกเพื่อความยั่งยืน พร้อมเร่งเจาะตลาดเป้าหมายการค้าการลงทุน 10 ประเทศเพิ่มโดยเฉพาะตลาดใหม่อย่าง ซาอุ- แอฟริกาใต้ มุ่งใช้ศักยภาพ RCEP เพิ่มขึ้น
วันนี้(10 ธ.ค.)ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึง แนวทางการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทย ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและผู้แทนการค้าไทยว่า ลักษณะการทำงานก็คือ การเป็นเซลล์แมน ช่วยการประชาสัมพันธ์ประเทศ ให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเปิดรับการลงทุนมากขึ้นและพร้อมที่จะขยายตลาดสินค้าส่งออกโดยในปี 2567 นายกรัฐมนตรีมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว( green economy) โดยมองไปถึงแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุน ดังนั้นล่าสุดจึงได้หารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมตรี และได้เชิญทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาร่วมปรึกษาถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อGreen Economy หรือ Green Investment ที่คาดว่าจะเกิดได้ในก.พ. 67
“ ขณะนี้ก็ต้องมาดูกฏระเบียบข้อบังคับว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยเรื่องนี้ทาง กลต.ก็ช่วยดูแลอยู่ ซึ่งตอนนี้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก หรือรายกลางราย ต้องการเรื่องเงินทุน อาจจะเป็นธุรกิจที่ท่านทำอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องลงทุนบางธุรกิจอาจจะติดข้อจำกัดการกู้เงินจากสถาบันการเงิน กองทุนนี้ก็จะเข้ามาเป็นแหล่งเงินทุนเสริมเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ รวมไปถึงสินค้าเกษตรแปรรูป หรือพลังงานที่จะต้องปรับเป็นพลังงานสะอาด โดยทางร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับกรมวิชาการและเชิญภาคเอกชนเข้ามาให้ความรู้ของการมีพลังงานสะอาดให้กับเกษตรกรประกอบด้วย”ศ.ดร.นฤมลกล่าว
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะสอดรับกับทิศทางของโลกที่ประเทศต่างๆ ล้วนดำเนินนโยบาย green economy เช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน 42 บริษัทได้เข้าพบ นายกรัฐมนตรี และได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะร่วมกันถึงโครงการริเริ่มเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน อย่างเช่น ภาคการเกษตรยังใช้การเผากันอยู่ ซึ่งไทยจะมีโอกาสที่จะหารือความร่วมมือเอาเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกามาช่วยลดการเผา หรือว่าการใช้วิธีอื่นเพื่อที่จะทำลายเอาไปใช้เป็นเรื่องพลังงานแทน เป็นต้น
สำหรับการลงทุนในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการลงทุนเยอะที่สุด รองลงมาก็จะเป็นประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่ 3 แต่ถ้าเป็นจำนวนโครงการจำนวนเยอะที่สุดเป็นประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นเรื่องของการค้าท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็พยายามเร่งขับเคลื่อนให้ตัวเลขเกินดุลการค้าซึ่งตัวเลขการส่งออกล่าสุดเป็นบวกติดต่อมา 3 เดือนแล้วโดยพบว่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 13% สินค้าในอุตสาหกรรมเพิ่ม 6% โดยในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการเดินทางไปต้อนรับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเกษตร ซึ่งจะเดินทางจากไทยไปยังนครเฉิงตู ส่งต่อเข้าไป ยุโรป และรัสเซีย ตรงนี้จะเป็นโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรในการขยายตลาดส่งออกของไทยได้เพิ่มขึ้น
ศ.ดร.นฤมล กล่าววว่า ในส่วนของการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ นายกฯได้รับฟังข้อคิดเห็นจากอุตสาหกรรมหอการค้าไทย รวมถึงหอการค้าสหรัฐอเมริกา และของญี่ปุ่น จึงได้ประเมินว่าจะต้องเปิดตลาดใหม่ในพื้นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศที่มีศักยภาพอย่างอินเดีย ยูเออี และเกาหลีใต้ โดยท่านได้มอบนโยบายให้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการที่จะไปเปิดตลาดใหม่
ทั้งนี้ประเทศเป้าหมายหลักมี 10 ประเทศ ที่ไทยจะส่งเสริมการการค้า-การลงทุน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ ตลาดหลัก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ตลาดที่มีศักยภาพ 3 ประเทศ: อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และเกาหลีใต้ และตลาดศักยภาพใหม่ 2 ประเทศ:ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ ส่วนตลาดอื่นๆที่เหลือ ก็ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เช่น สหภาพยุโรป(อียู) แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งตลาดเหล่านี้ จะมีการส่งเสริมเป็นอันดับต่อไป
“ ตลาดที่เรามีการค้าการลงทุนก็จะมี จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อันนี้คือ ตลาดหลัก ตลาดใหญ่ และก็ยังมีเกาหลีใต้ ที่เป็นตลาดเพิ่มเติม ถ้าเป็นตลาดหลักเดิม จะมี จีน สหรัฐ กับ ญี่ปุ่น แต่ถ้าทางยุโรปก็จะมีเยอรมนีกับ ฝรั่งเศส คือ 5 ตลาดเดิมที่เราพยายามรักษา และก็จะพยายามทำให้เติบโตมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี อยากจะให้เราเปิดตลาดใหม่ก็คือ แอฟริกาใต้ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะเป็นตลาดมาแรงที่จะพร้อมรองรับสินค้าประเทศต่างๆรวมถึงของไทย”ศ.ดร.นฤมลกล่าว
ส่วนในเรื่องของการทำข้อตกลงไม่ว่าจะเป็นทวิภาคี พหุภาคี ซึ่งมีอยู่แล้ว 17 ฉบับกับ 18 ประเทศ ท่านนายกฯต้องการให้เร่งดูเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ซึ่งท่านปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นประธานในการทำงานเพราะข้อตกลงทางการค้าจะเป็นสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกสิทธิต่าง ๆ ภาษี และเงื่อนไขของศุลกากรที่จะทำให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับการส่งออก โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ฉบับที่ 14 ของประเทศไทยและเป็น FTA ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจะขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกให้ไทยมากขึ้น
“ RCEP มีสมาชิก 15 ประเทศมีประชากร 2,222.8 ล้านคนคิดเป็น 30.1% ของประชากรโลก ไทยมีการส่งออกไปRCEP รวมปี 2565 ประมาณ 150,338.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามา 176,948.6 ล้านเหรียญสหรัฐทำให้เรามองแนวทางที่จะให้เกิดการส่งออกให้มากขึ้น ดังนั้นในหน้าที่ของเซลล์ก็ต้องไปเสนอขาย อีกทีมหนึ่งก็ต้องไปคุยในเรื่องของข้อตกลงในการค้าระหว่างกัน สิ่งหนึ่งที่เราใช้ประโยชน์ได้มากก็คือ RCEP ที่มูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล ตรงนี้ที่ทำให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้บ้าง“ศ.ดร.นฤมล กล่าว