วันนี้(8 ธ.ค.)นายนิติพล ผิวเหมาะ สส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้กรณีของ ครูชัยยศ สุขต้อ อดีตครูโรงเรียนบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กำลังเป็นข้อถกเถียงขึ้นในสังคม เนื่องจากมีการนำเอางบอาหารกลางวันสำหรับเด็กประถม ไปจัดหาอาหารให้เด็กมัธยมด้วย เพราะเด็กมัธยมไม่มีสวัสดิการในส่วนนี้ จนทำให้ถูกสอบสวนโดย ป.ป.ช. ซึ่งพบว่ามีความผิดจริงทำให้ต้องออกจากราชการ
นายนิติพล กล่าวว่า ในฐานะคนเชียงใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ มีความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่มากของการศึกษาไทย ซึ่งต้องมองแยกออกเป็น 2 ประเด็นด้วยกัน คือปัญหาของนักเรียนที่มีอยู่จริง และกระบวนการจัดซื้ออาหารของครูชัยยศมีความผิดหรือไม่ ในเรื่องแรกต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาด้วยปัจจัยเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น มีความห่างไกล เดินทางลำบากและเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ขณะที่สวัสดิการทางการศึกษายังไม่ครอบคลุมพอ อย่างงบอาหารกลางวันจำกัดแค่ระดับประถม ทั้งที่ในความเป็นจริงหากเขาเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีฐานะดีขึ้น แต่กลับเป็นค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น บางแห่งไม่ใช่แค่รายจ่ายค่าอาหารเท่านั้น แต่ต้องขึ้นรถไปเรียนในตัวเมือง เพราะในชุมชนไม่มีโรงเรียน
"ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไขใน 2 ส่วน คือถึงเวลาต้องกระจายอำนาจเพื่อให้งบลงไปอยู่ที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นออกแบบสวัสดิการศึกษาที่เหมาะกับลูกหลานของเขาตามปัจจัยพื้นที่ ไม่ว่างบอาหาร รถโรงเรียน หรือแม้แต่การสนับสนุนกิจกรรมเสริมการศึกษา เช่น ชมรมต่างๆ หรืออุปกรณ์ทางการศึกษา เป็นต้น
นายนิติพล กล่าวต่อว่า ประการต่อมาคือ การศึกษาต้องเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า งบอาหารกลางวันต้องครอบคลุมไปจนจบมัธยมปลาย หรืออาชีวะ เพื่อที่อย่างน้อยจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง เพราะหากการศึกษายังคงเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเรียนสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาเมื่อถึงช่วงชั้นรอยต่อ เช่น ป.6 ต่อ ม.1 หรือ ม.3 ต่อ ม.ปลาย จะพบเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เพราะครอบครัวมักตัดสินใจให้เด็กออกมาหางานทำเพื่อแบ่งเบาภาระ ซึ่งค่าอาหารมีส่วนสำคัญที่จะดึงเด็กให้ยังอยู่ในระบบการศึกษา และการศึกษาที่สูงขึ้นมีส่วนสำคัญให้ครอบครัวนั้นๆหลุดพ้นวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้"
ประการต่อมา ในส่วนกระบวนการจัดซื้ออาหารของครูชัยยศ ผิดหรือไม่ หากมองในเชิงขั้นตอน ต้องบอกว่าผิดแม้มาจากเจตนาที่ดีคือช่วยเหลือเด็กๆที่ลำบาก ดังนั้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจึงมีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้
"ปัญหาเฉพาะหน้าคือเมื่อมองจากเจตนาเป็นเจตนาที่ดี เป็นความพยายามจัดการปัญหาของเด็กๆจากครูคนหนึ่งท่ามกลางปัญหาที่มี ดังนั้นผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุยกันเพื่อเปิดทางให้มีการอุทธรณ์เพื่อคืนอาชีพและศักดิ์ศรีกลับมาให้ครูชัยยศโดยเร็ว การมีครูคนหนึ่งที่มีความเห็นอกเห็นใจเด็กเป็นที่ตั้งอยู่ในระบบการศึกษา ผมเชื่อว่านั่นคือการสร้างคนที่มีความเป็นมนุษย์โดยที่เราแทบไม่ต้องใส่อะไรวุ่นวายอย่างพวกค่านิยม 12 ประการไปให้เด็กท่องจำด้วยซ้ำ"
ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ปัญหานี้เกิดจากการเอางานที่ไม่ควรเป็นของครูมาโยนให้ครูทำ ถ้าปล่อยแบบนี้ต่อไป เชื่อว่าก็คงมีปัญหาที่อื่นอีก การจัดหาจัดซื้อเป็นงานทางธุรการ มีกระบวนการขั้นตอนหลายอย่าง หากพลาดไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ย่อมมีความยุ่งยากตามมา ซึ่งกระทบต่อการเรียนการสอนที่เป็นงานหลักของครูอย่างแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรทำคือการคืนครูกลับห้องเรียน แล้วไปหาฝ่ายธุรการที่มีหน้าที่โดยตรงมารับผิดชอบในงานนั้นๆ อย่าให้ครูรับภาระงานที่ไม่ควรเป็นของครูซึ่งปัจจุบันนี้ภาระล้นเกินไปมากแล้ว