xs
xsm
sm
md
lg

"ช้างป่า" บุกทำลายบ้าน-พื้นที่เกษตร เยียวยาสูงสุดรายละแสน "มหาดไทย" ย้ำ! ท้องถิ่น ใช้เกณ์ครอบคลุมทั้งเขตจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย ย้ำ อปท.ใช้แนวทางช่วยผู้ประสบภัย/ครัวเรือน เหตุถูก "ช้างป่า-สัตว์ป่า" บุกทำลายบ้านพัก พื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ใช้เกณฑ์ทดรองจ่าย ครอบคลุมทั้งเขตจังหวัด ทั้งที่ประกาศหรือไม่ประกาศเป็นพื้นที่พิบัติกรณีฉุกเฉิน เผยเกณฑ์ช่วยฯ เหตุถูกทำลายบ้านพัก-พื้นที่เกษตรฯ ถึงขั้นเสียชีวิต ให้ได้รับเยียวยาสูงสุดรายละ 1 แสนบาท

วันนี้ (4 ธ.ค.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบสาธารณภัย

กรณี "ช้างป่าหรือสัตว์ป่า" เข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด

หลังจาก อปท.หลายแห่ง ได้หารือว่า อปท.จะสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากช้างป่าหรือสัตว์ป่าทำลายพืชผล ทางการเกษตร รวมถึงชีวิตและทรัพย์สิน

"ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ของอปท. พ.ศ. 2566 ได้หรือไม่ อย่างไร"

ขณะที่ ป.มท.เห็นว่า อปท. สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ตามข้อ 5 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายดังกล่าว

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ที่ มท .เวียนหนังสือไปทุกจังหวัด ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือขณะเกิดภัย เช่น

กรณีพื้นที่ของ อปท. ไม่ว่าจังหวัด จะได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หรือไม่ก็ตาม

อปท.สามารถใช้จ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น โดยถือปฏิบัติตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง ข้อ 19 (1) และข้อ 21 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ พ.ศ. 2566 ประกอบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราซการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563

เช่น กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ให้พิจารณาช่วยเหลือ รวมจำนวน 4,200 บาทเป็น "ค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว" เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 2,500 บาท

"จ่ายเป็น ค่าผ้าใบ หรือ ผ้าพลาสติก หรือ วัสดุอื่น ๆ สำหรับกันแดดกันฝน เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละ ไม่เกิน 1,000 บาท เป็นค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาท ต่อครอบครัว"

ขณะที่ การช่วยเหลือหลังเกิดภัย เพื่อเยียวยาหรือฟื้นฟู หลังเกิดสาธารณภัย ให้ อปท.เสนอคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ

หรือกรณี ที่จังหวัดได้มีประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ หาก อปท.ประสงค์จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอง ในเรื่องใด หรือจะขอให้อำเภอ หรือจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน

ให้ อปท.รายงานให้อำเภอ หรือจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความซํ้าซ้อนในการช่วยเหลือ หรือหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

เช่น ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท

ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ และหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลัก ในการหาเลี้ยงครอบครัวของผู้ประสบภัยพิบัติ เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กรณีบาดเจ็บสาหัสที่ต้องรักษาในสถานพยาบาลติดต่อกัน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 4,000 บาท

ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กรณีบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ ให้ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 13,300 บาท

"ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละไม่เกิน 29,700 บาท และในกรณีผู้ประสบภัย ที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ให้พิจารณาช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ ครอบครัวอีกไม่เกิน 29,000 บาท"

สำหรับ กรณีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่พืชตาย หรือเสียหายตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริง ที่ได้รับความเสียหาย

"ทั้งนี้ ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้ ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท เป็นต้น"

มท. ยังระบุว่า แนวทางดังกล่าว ให้ อปท.บูรณาการกับหน่วยงานรัฐ กองทุน มูลนิธิ ร่วมกัน ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีข้างป่า เพื่อมิให้เกิดความซํ้าซ้อน

ส่วนกรณีการเตรียมการก่อนเกิดภัย" กรณี อปท.มีความจำเป็นต้องสั่งให้บุคคลภายนอกไปปฏิบัติราชการให้กับ อปท. ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น อาสาสมัครผลักดันช้างป่า

"ให้ผู้บริหารท้องถิ่น ออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวไปปฏิบัติราชการ และกำหนดให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไปราชการจาก อปท."


กำลังโหลดความคิดเห็น