“นิกร” ส่ง 5 คำถามรับฟังความเห็น ส.ส.- ส.ว. ต่อการทำประชามติแก้ รธน. คาด 21 ธ.ค. รู้ผล ย้ำ เป็นคำถามเชิงลึก หวังได้เสียง ส.ว. เป็นแนวร่วมสนับสนุน
วันนี้ (4 ธ.ค.) นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่า ตนได้ลงนามหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา และ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำถามประชามติในส่วนที่จะขอความเห็นของ ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน ให้พิจารณาหลังจากที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุมวันที่ 12 ธ.ค. นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อสรุปในส่วนดังกล่าว ช่วงวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ ในคำถามที่ส่งไปยัง ส.ส. และ ส.ว. นั้น จะเป็นคำถามเชิงลึกมีมากกว่า 1 คำถาม อาทิ เห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่, เห็นควรทำประชามติก่อนการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญและมีผลต่อการสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. ที่ต้องเห็นชอบด้วยเสียง 1 ใน 3 และคำถามของที่มาของ ส.ส.ร. ว่าจะเลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งผสมกับนักวิชาการ
“ในประเด็นการรับฟังความเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมด จะเสนอให้กรรมการชุดใหญ่พิจารณาในปลายเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนจะส่งให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาในการทำประชามติถามประชาชน เบื้องต้นอาจจะมีคำถามพ่วงในประเด็นของรูปแบบหรือที่มาของส.ส.ร.ด้วย” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตนได้ทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ พร้อมกับร่างแก้ไข มาตรา 13 จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่มาลงคะแนน ตนได้เสนอให้ใช้เกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งเพียงชั้นเดียว คือ เฉพาะผู้ออกมาใช้สิทธิที่ต้องออกมาเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนผลการลงคะแนนให้ใช้เฉพาะเสียงข้างมาก อย่างไรก็ดีข้อสรุปเรื่องดังกล่าวต้องรอผลการศึกษาจากนายวุฒิสาร ตันไชย กรรมการประชามติอีกครั้้ง
เมื่อถามถึงทิศทางการส่งตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายนิกร กล่าวว่า กรรมการไม่มีประเด็นดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองจะพิจารณาหลังจากที่ตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้น อนุกรรมการจะเดินทางไปรับฟังความเห็นประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ และในวันที่ 11 ธ.ค. ตน และคณะกรรมมการ ประมาณ 10 คน จะเข้าพบทูตสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพูดคุยถึงการทำประชามติ ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และควรรับฟังเพราะการทำประชามติไม่ได้ใช้เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำถามในการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก มีจำนวน 5 ข้อ คือ 1. เห็นสมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมี 3 คำตอบ คือ เห็นสมควรจัดทำทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 / จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ / ไม่เห็นสมควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. ในกรณีที่เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเห็นสมควรแก้เป็นรายมาตราหรือไม่
3. ในกรณีเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาประการใด ที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ประกอบด้วย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน / การมีส่วนร่วมทางการเมือง / ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหารฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ / วิธีและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก / และอื่นๆ
4. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมควรตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ / สมควรตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด
5. ในการจัดทำประชามติเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ทำก่อนเริ่มดำเนินการใดๆในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อน และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ