สสส.ร่วมมือโคแฟคจัดเวทีสาธารณะรู้เท่าทันข้อมูลสุขภาวะ มุ่งส่งต่อความรู้-ป้องกันข่าวลวงวนซ้ำ เพิ่มความรู้เครือข่ายเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงใน 12 จังหวัด พร้อมพัฒนานวัตกรรมซีรีย์ 14 ตอนเสริมภูมิคุ้มกันแก่เด็ก-คนสูงวัยจากออนไลน์
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รายงานผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย ปี 2565 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบคนไทย 85% กำลังใช้ชีวิตใน “โลกคู่ขนานออนไลน์” ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8.06 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญยังพบว่า คนไทย 62.5% กังวลเรื่องข่าวลวง ซึ่งสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก สสส. สานพลัง โคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดเวที Infodemic Literacy Forum เสวนาสาธารณะรู้เท่าทันข้อมูลสุขภาวะ #1 มุ่งเป้าพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ พัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ จิตสำนึก ค่านิยม และพฤติกรรมการใช้สื่อ สนับสนุนให้เกิดกลไกเฝ้าระวัง เป็นวิถีปฏิบัติในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เกิดข้อมูลข่าวลวงสุขภาพในโลกออนไลน์จำนวนมาก ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนให้ระมัดระวังภัยจากการสื่อสาร ซึ่งกลุ่มเด็กและผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลสุขภาพที่บิดเบือน พบผู้สูงอายุถึง 75% ขาดทักษะการใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน จึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเท่าทันสื่อในสังคม ที่น่าห่วงคือ ข่าวลวงเกี่ยวกับการรักษาโรค โดยเฉพาะมะเร็ง ข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 140,000 คนต่อปี หรือ 400 คนต่อวัน จึงได้พัฒนานวัตกรรมซีรีย์สุขภาพรู้ทันข่าวลวงมะเร็ง 4 ตอน และซีรีย์รายการ “รู้มั้ย by Cofact” กรองข่าวลวงสุขภาพ 10 ตอน เผยแพร่ผ่านช่องทางยูทูบ สสส. และโคแฟค หากประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นำไปสู่การเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ ที่สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลโรคได้” นางญาณี กล่าว
น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (Cofact) กล่าวว่า ซีรีย์สุขภาพเกิดขึ้นจากความสนใจในประเด็นด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล รวมถึงข่าวลวงที่วนซ้ำ เช่น เรื่องมะนาวโซดารักษามะเร็ง ฐานข้อมูลของโคแฟคพบข่าวลวงสุขภาพมากถึง 7,482 ข้อมูล ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการตรวจสอบข่าวที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาล ที่ผ่านมา ได้เปิดพื้นที่ในการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง และส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัลให้กับพลเมืองด้วยการเป็น Fact Checker ด้วยตนเอง โดยวางระบบเทคโนโลยีเว็บแอปพลิเคชันและไลน์แชทบอท สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์ ค้นหาความจริงร่วมกัน รวมถึงสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เรื่องปัญหาข่าวลวงด้านสุขภาพ มุ่งเป้าสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่เข้มแข็ง จากความร่วมมือขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและตรวจสอบข่าวลวงจากกว่า 40 ภาคี ทั้งในและต่างประเทศ
“ปัญหาข่าวลวง หรือข้อมูลบิดเบือนยังมีความแตกต่างตามบริบทของพื้นที่ หรือภูมิภาค โคแฟคได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกเครือข่ายเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงใน 12 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ชลบุรี พะเยา สงขลา เชียงใหม่ ปัตตานี ขอนแก่น ปทุมธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมค้นหาข่าวลวงตามบริบทในแต่ละพื้นที่ พร้อมเป็นสื่อกลางสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องในสังคม” น.ส.สุภิญญากล่าว