เมื่อเร็วๆนี้ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา จังหวัดสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดกิจกรรมสัญจรลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ระยะที่ 2 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแกนนำครูอาชีวะ ในการนำไปเป็นเครื่องมือป้องกันปัจจัยเสี่ยงให้กับเด็กในสถานศึกษา ตลอดจนคนในชุมชน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มีตัวแทนครูแกนนำจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลาเข้าร่วมกว่า 30 คนจากภาควิชาต่าง ๆ
นางสาวชนม์ศิกานต์ แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวว่าด้วยพื้นที่ตั้งของวิทยาลัย ทำให้ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง (เหล้า-บุหรี่) เกิดขึ้นค่อยข้างน้อย แต่วิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ มีการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน เช่น การตรวจตราทุกครั้งก่อนเข้าเรียน กำหนดจุดเฝ้าระวังภายในวิทยาลัย ประชุมผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจ รวมถึงเน้นย้ำครูผู้สอนให้เข้าใจถึงปัญหาและร่วมหาแนวทางป้องกันร่วมกัน ซึ่งโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง ของ สสส. ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้ครูมีความเข้าใจ และ มีอาวุธในการป้องกันปัจจัยเสี่ยงใหกับเยาวชน
นายธวัชชัย กุศล รองผู้อำนวยการด้านบริหารและการบริการ ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) กล่าวว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครูถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันปัจจัยเสี่ยงให้กับเด็ก เพราะครูถือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นต้นแบบให้กับเด็กในการดำเนินชีวิต กระตุ้นให้เด็กกล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด และกล้าที่จะแสดงออก หากมีการปลูกฝังความคิดที่ดีลงไปตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีเกราะป้องกัน และเป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตในอนาคต
“ครูจะต้องมีทักษะที่สำคัญ คือ การรับฟัง เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดได้แสดงออก โดยที่ครูเป็นผู้แนะแนวว่าสิ่งที่เด็กทำจะมีผลดี ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบอย่างไร ครูต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา โดยอาศัยทรัพยากรรอบตัวให้เด็กได้ฝึกคิดฝึกทำผ่านโครงการต่าง ๆ เพราะจะให้เด็กมีความเชื่อใจและหากเกิดปัญหาจะสามารถเข้าไปแก้ไขได้ทัน และอีกส่วนที่สำคัญคือจะต้องแนะนำเครื่องมือการตรวจเช็คให้กับครูได้นำไปใช้เฝ้าระวันปัญหา เช่น ชุดทดสอบความเครียด หรือแบบทดสอบการประเมินปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้รู้เท่าทันเด็ก” นายธวัชชัย กล่าว
นอกจากนี้ สสส. ยังมีสายด่วน 1600 เพื่อการเลิกบุหรี่ และสายด่วน 1413 เพื่อการเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญให้ครู และ บุคคลทั่วไป ในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยง หากพบว่าเด็กคนใดมีปัญหาสามารถโทรปรึกษาถึงแนวทางแก้ไข หรือ ส่งช่องทางการติดต่อเพื่อให้เจ้าหน้าเข้าไปให้การช่วยเหลือได้โดยตรง
ด้าน นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าภารกิจของครูในการดูแลเด็กไม่ให้เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงถือว่ามีความหนัก เพราะโอกาสที่ครูจะรู้เท่าทันสื่อออนไลน์สมัยใหม่อาจไม่ทันกับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น สสส. จึงจัดโครงการเพื่อพยายามนำข้อมูลข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ให้ครูสามารถนำไปใช้แนะนำเด็กให้ตรงเป้าหมายที่สุด