สานฝัน “ปลัดเก่ง” เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็น “กรมท้องถิ่น” พ่วงชงตั้ง 3 กองใหม่ เลือกตั้งท้องถิ่น สาธารณสุขท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น อ้างภารกิจกรมเยอะ! คาดชง “รองปานปรีย์” ฐานะประธาน ก.พ.ร ฟันธง! เผย สถ.ทำแบบสำรวจคนท้องถิ่นตั้งแต่ต้นปี พบส่วนใหญ่ เห็นด้วย แถมบางเสียงหนุน ถึง “กระทรวงท้องถิ่น” หวังลดอำนาจมหาดไทย แซะ! คนในกรมฯอย่าลืมเปลี่ยนทัศนคติ
วันนี้ (29 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1/2566 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
เห็นชอบ การแบ่งส่วนราชการภายใน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กองสาธารณสุขท้องถิ่น และกองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น
รวมถึงเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็น “กรมท้องถิ่น”
“ขั้นตอนต่อไป มท.จะเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.ร พิจารณา แนวทางดังกล่าว ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย”
.
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดี สถ. กล่าวว่า แนวทางการตั้งหน่วยงานใหม่ทั้ง 3 หน่วยงาน เป็นภารกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ในสมัยที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังนั่งเป็น อธิบดี สถ.
ได้มีจัดให้มีภารกิจงานในด้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภารกิจด้านสาธารณสุข ของ อปท.
เหตุจาก สถ. มีภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จัดทำคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้การรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
ในส่วนของภารกิจในด้านสาธารณสุข จะต้องมีการรองรับภารกิจสำหรับการถ่ายโอน ภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้งประเทศ 9,787 แห่ง
สุดท้ายภารกิจด้านการเลือกตั้งฯ ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบหมายให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหาร อปท.ทุกรูปแบบ
มีรายงานว่า เมื่อ เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สถ. ได้สำรวจความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนชื่อ “กรม”
โดยมีการส่งแบบสำรวจความคิดเห็นฯ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ
“ขอความร่วมมือแจ้งให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด 76 จังหวัด และอปท. 7,850 แห่ง ตอบแบบสำรวจความคิดเห็น
สถ. ระบุครั้งนั้นว่า การเปลี่ยนชื่อ ว่า กรมฯอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจและอำนาจหน้าที่ในปัจจุบัน และรองรับภารกิจในอนาคต
ทั้ง ในการพัฒนา ให้คำปรึกษา แนะนำ อปท. ในด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ เพื่อให้ อปท.มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ ในการบริการสาธารณะ
ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ จะส่งผลต่อการปรับภารกิจ และอำนาจหน้าที่ รวมทั้งมีผลต่อการกำหนดชื่อของหน่วยงาน
โดยแบบสำรวจการเปลี่ยนชื่อ สถ. ระบุว่า เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสนับสนุนประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.)
หน่วยงานในกำกับของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการทบทวนบทบาทภารกิจ และปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการ ที่มี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
สำหรับเนื้อหาของแบบสำรวจความคิดเห็นฯ ถามถึง ภารกิจและอำนาจหน้าที่ 11 ข้อ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ของ สถ. กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551 ว่า สอดคล้องกับชื่อกรม หรือไม่
โดยคำถาม ที่ถามย้ำในข้อ 3 จาก 4 ข้อ ระบุชัดเจนว่า “หาก สถ. จะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน เป็น “กรมท้องถิ่น” เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาท ภารกิจ และอำนาจหน้าที่ที่กรมปฏิบัติอยู่จริงในปัจจุบัน และเพื่อรองรับภารกิจใหม่ในอนาคต ท่านเห็นด้วยหรือไม่
สำหรับ สถ. เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของ “สำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่น (สน.บท.) สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย”
ต่อมามีภารกิจเพิ่มจากการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ สอดคล้องตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
มีการยกฐานะของสำนักให้เป็นส่วนราชการระดับกรม ซึ่งในปี พ.ศ. 2545 สำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
มีรายงานว่า แบบสำรวจความคิดเห็นฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ พบว่า คน สถ.ส่วนใหญ่ เห็นด้วยที่จะมีการปรับโครงสร้าง เป็น “กรมท้องถิ่น”
นอกจากนี้ ยังมีเสียงคนท้องถิ่นส่วนหนึ่ง สนับสนุน ให้ตั้ง เป็น “กระทรวงท้องถิ่น” เพื่อลดอำนาจ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงอย่าลืมเปลี่ยนทัศนคติ คนในกรมฯ ด้วย.