“สมศักดิ์” รองนายกฯ เตือนผู้บริโภคถูกหลอกลวงเพิ่มมากขึ้น แนะมีปัญหาขอความช่วยเหลือมาทาง “สภาผู้บริโภค” เผยข้อมูลสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 พุ่งถึง 16,142 เรื่อง ร้องเรียนอันดับ 1 ซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก-บัตรคอนเสิร์ต ขณะที่ภัยคุกคามการเงินธนาคาร-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มาเป็นอันดับ 2
สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ในรอบปี 2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565- ก.ย.2566 มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคและได้ร้องทุกข์มาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ถึง 16,142 เรื่อง และสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่อง หรือร้อยละ 79.52
ในการถ่ายทอดสดหัวข้อ “พลิกอำนาจต่อรอง สู่มือผู้บริโภค” ผ่านรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค และยูทิวป์ tccthailand โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้บริโภคในอนาคต
นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาและฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงมากขึ้นในโลกโซเซียลมีเดียทำให้หน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้บริโภค อย่างสภาผู้บริโภคซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่พึ่งก่อตั้งในปี 2564 จึงถือเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“ผมคิดว่าสภาผู้บริโภคเป็นหน่วยงานใหม่ที่จะเข้ามาช่วยผู้บริโภคได้มากและจะช่วยแบ่งเบาปัญหาเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานราชการลงไปได้ เพราะขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากที่เข้ามาร้องเรียนที่หน่วยงานราชการ ซึ่งในส่วนราชการมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ฝ่ายประชาชนมี สภาผู้บริโภค เป็นตัวแทนในการให้ความช่วยหลือและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยประชาชนที่มีปัญหาติดต่อที่สภาผู้บริโภคได้ในช่องทางต่าง ๆ และในปี 2567 สภาผู้บริโภคจะมีเบอร์สายด่วน 1502 ให้โทรมาปรึกษาได้”
นายสมศักดิ์ ได้กล่าวย้อนถึงที่มาของสภาผู้บริโภคว่า ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 มาตรา 46 และมีพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาผู้บริโภค ปี 2562 โดยจะคอยช่วยเหลือผู้บริโภคและสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภค โดยขณะนี้สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกแล้วกว่า 150 องค์กร และมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 60 คน มีเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายกว่า 10 คน และมีทนายอาสากว่า 100 คน ที่คอยช่วยเหลือผู้บริโภคได้
นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย กลับทำให้ประชาชนถูกหลอกลวงมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี ในสังคมปัจจุบันต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ประชาชนสามารถไปร้องขอช่วยเหลือที่สภาผู้บริโภค ซึ่งจะรวบรวมผู้ที่มีปัญหาในลักษณะคล้ายกันรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ทำให้เสียงผู้บริโภคมีกำลังในการต่อรองมากขึ้น ดีกว่าการที่ผู้บริโภคคนเดียวจะเข้าไปต่อสู้อย่างโดดเดียวตามลำพัง
นอกจากนี้สภาผู้บริโภคยังทำหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมในเชิงนโยบาย หรือผลักดันมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก เช่นกรณีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง เสนอให้ลดปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เป็นต้น
ด้าน น.ส.สารี กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเป็นเหมือนเพื่อนของผู้บริโภค ถ้าเจอปัญหาถูกเอาเปรียบถูกหลอกสามารถมาขอความช่วยเหลือได้ที่สภาผู้บริโภคในช่องทางต่าง ๆ ได้ ทั้งในเพจเฟซบุ๊กสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือเว็ปไซด์ www.tcc.or.th LineOA @tccthailand และในปีหน้า 2567 จะมีสายด่วน 1502 ที่สามารถโทรมาปรึกษาได้เลย
นอกจากนี้ผู้บริโภคที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถเดินทางไปขอรับความช่วยเหลือที่หน่วยงานสภาผู้บริโภคประจำจังหวัด โดยขณะนี้มี 43 จังหวัด และในปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 66 จังหวัด และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนสาเหตุที่ยังมีหน่วยงานประจำจังหวัดยังไม่ทั่วประเทศ เนื่องจากการขึ้นทะเบียนหน่วยงานประจำจังหวัด ผู้บริโภคต้องรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงจะมาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคได้
ส่วนสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-ก.ย.2566) สภาผู้บริโภคได้รวบรวมข้อมูลและรายงานสถานการณ์ผู้บริโภคจากการรับเรื่องร้องทุกข์ทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานสภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดใน 15 จังหวัด และองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค โดยในปีนี้มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาเป็นจำนวน 16,142 เรื่อง ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 79 และสามารถคิดรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถึง 71,703,984.46 บาท
ภาพรวมเรื่องร้องทุกข์ที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในปีงบประมาณ 2566 ปัญหาที่มีผู้ร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคทั้งแบบรายบุคคลและเป็นกลุ่มมากที่สุดคือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 10,150 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 62.88 เกินครึ่งหนึ่งของเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าเรื่องร้องทุกข์ในปีงบประมาณ 2565 ถึง 7,875 เรื่อง
สำหรับผู้ที่ร้องทุกข์เข้ามาในเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปที่เป็นอันดับหนึ่ง มีประเด็นใหญ่ๆ คือ การขายบัตรคอนเสิร์ต 5,906 เรื่อง เป็นกรณีการเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ต การสมัครสมาชิกแต่ไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้ ขณะที่ประเด็นรองลงมาในกลุ่มสินค้าและบริการคือ การซื้อสินค้าทางออนไลน์ 1,474 เรื่อง และปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการเข้าไปใช้บริการเสริมความงาม 1,110 เรื่อง โดยเป็นการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่ไม่ได้รับสินค้าและไม่ได้รับเงินคืน หรือการได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อไป
ปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ ปัญหาด้านการเงินและการธนาคาร จำนวน 2,084 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 12.91 อันดับที่ 3 เป็นปัญหาด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 918 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.69 เช่น กรณีการถูกหลอกลวงจากข้อความสั้น (SMS) แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง
ส่วนเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารที่เป็นซากแมลง เศษพลาสติกหนังยาง หรือของแปลกปลอมอื่น รวมไปถึงการทำสัญญาซื้อขายบ้านหรืออาคารชุดต่าง ๆ ปัญหาบ้านร้าว หรือแม้แต่ปัญหาการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน.