วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี จังหวัดปัตตานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดกิจกรรมสัญจรลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ระยะที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติและพัฒนากลไก ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวกในการส่งเสริมสุขภาวะ และช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยกิจกรรมครั้งนี้มีตัวแทนนักศึกษาจากภาควิชาต่าง ๆ 10 สาขา จำนวนกว่า 100 คน เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ถึงพิษภัย รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุรี่ในพื้นที่ภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง แม้สถิติจะลดลงหากเทียบกับปีก่อนหน้านี้ แต่หากพิจารณาจากข้อมูลของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รายงานพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 พบว่า เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% และมีข้อมูลการสำรวจของสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยที่ไปเก็บข้อมูลเชิงลึกจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ ยืนยันว่าเยาวชนก่อนต้องโทษคดียาเสพติดเคยสูบบุหรี่มวน 95.4% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ยืนยันว่าบุหรี่เป็นประตูนำสู่ยาเสพติดอื่น ดังนั้นกิจกรรมสัญจรลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กลุ่มเป้าหมายมีความตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ ที่จะส่งผลกระทบกับพวกเขาในระยะยาว อีกทั้งยังจะช่วยจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลัง บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ในพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้ามาแก้ไขอย่างต่อเนื่องเพราะจากสถิติจะเห็นว่าภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุดในประเทศ และที่น่ากังวลยังพบสถิติการสูบในกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี จำนวนมากอีกด้วย ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงเห็นว่าปัญหานี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข เพราะบุหรี่ถือเป็นภัยร้ายสำคัญที่ทำลายชีวิตคนไทยจำนวนมาก การที่ สสส. ลงพื้นที่มายังสถานศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษา ในการดำเนินโครงการยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้เยาวชนได้ตระหนักถึงพิษภัย และยังเป็นเป็นกระบอกเสียงไปยังกลุ่มบุคคลอื่นที่ยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่อีกด้วย
“หากดูจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสูบบุหรี่จำนวนมาก โดยที่จังหวัดปัตตานีมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 18,196 คน คิดเป็นร้อยละ 16.3 จังหวัดยะลา จำนวนผู้สูบบุหรี่ 8,324 คน คิดเป็นร้อยละ 11.1 และจังหวัดนราธิวาส มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 13,273 คน คิดเป็นร้อยละ 11.9 นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เพราะปัจจุบันผู้ผลิตได้พัฒนารูปแบบและกลิ่นใหม่ๆออกมาจำนวนมาก อาจเป็นสิ่งกระตุ้นเยาวชนให้อยากทดลอง ดังนั้นการสร้างความเข้าใจจึงเป็นส่วนสำคัญ ” พญ.เพชรดาว กล่าว
นายวิทยา ตั่งยืนยง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี กล่าวขอบคุณ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา เพราะที่ผ่านมาวิทยาลัยได้ร่วมกับนักศึกษาทำโครงการป้องกันการสูบบุหรี่ในพื้นที่วิทยาลัยมาโดยตลอด และด้วยความร่วมมือจาก สสส. ที่มาให้ความรู้ ยิ่งทำให้แกนนำนักศึกษามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยทางวิทยาลัยมองว่าการสร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชนเสมือนเป็นการสร้างอาวุธในการต่อสู้กับปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแกนนำเยาวชน เพื่อให้พวกเขานำความรู้ที่ได้ ไปเผยแพร่ต่อยังกลุ่มเพื่อน ๆ ตลอดจนคนในชุมชนที่พวกเขาอาศัย