“พัชรวาท” สั่ง “ก.ทรัพยากรธรณี” แนะนำข้อปฏิบัติให้ประชาชนเตรียมรับมือ “แผ่นดินไหว” เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุ กำชับเกาะติดกลุ่มรอยเลื่อน 23 จังหวัด เข้าไปสำรวจ-ตรวจสอบ-ประเมินผลกระทบ ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อแจ้งข่าวให้ทันสถานการณ์
วันนี้ (22 พ.ย.66) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีแผ่นดินไหวที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ทำให้ประชาชนในภาคเหนือหลายจังหวัด รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งเกิดแผ่นดินไหวที่และสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แม้ไม่มีรายงานความเสียหาย แต่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนว่า จากกรณีดังกล่าวได้มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัย เพื่อลดความตระหนก ให้มีความสบายใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่ และเร่งรัดให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการสำรวจ ศึกษา และติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำแผนที่แสดงภัยพิบัติแผ่นดินไหว และแผนที่แสดงจุดปลอดภัยสำหรับเป็นจุดรวมพลชั่วคราวและอพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว จัดทำแผนการซักซ้อมอพยพภัยแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้นำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ไปใช้ประกอบการจัดทำ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ได้รับทราบรายงานจาก กรมทรัพยากรธรณี ว่าประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่สำคัญส่วนใหญ่ที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้ อยู่ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ให้ติดตามข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบในพื้นที่ ให้คำแนะนำแก่ประชาชน และจัดทำรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวด่วนเสนอ ผู้บริหาร ทธ. ทส. เผยแพร่สู่เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ทราบข้อเท็จจริง และมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนชี้แจงถึงสาเหตุและวิธีปฏิบัติตนเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้กับประชาชนได้เข้าใจ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนก
พร้อมกันนี้ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวัดแผ่นดินไหว และติดตามการเกิดแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เพื่อแจ้งข่าวให้กับประชาชนทราบสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชน สามารถตรวจสอบข้อมูล หรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหวได้จากกรมทรัพยากรธรณี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.dmr.go.th และเฟซบุ๊ค ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสารมวลชน หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี หมายเลขโทรศัพท์