เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SCP) จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2566 : เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย หัวข้อ “Sustainable Consumption and Production: Trends and Opportunities” โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ SCP” ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานเครือข่าย Thai SCP และนายกสมาคม SCP (Thailand) กล่าวแนะนำโครงการ ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายและผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกว่า 150 คน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Fanpage กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศที่ต้องดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใน
ค.ศ. 2030 โดยเป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือ SDG 12 เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตระหนักถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและบริการ ตลอดจนกรอบคิดและพฤติกรรมของประชาชน ให้มีความสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ผ่านการดำเนินงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม และเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมาย จำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกให้มีการบูรณาการงานแต่ละภาคส่วน ตลอดจนรวบรวม และเชื่อมโยงภารกิจงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน อีกทั้ง เป็นแนวทางสำคัญที่จะสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกับ เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระดมความคิดเห็นของเครือข่ายเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล
กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญทั้งใน และต่างประเทศ เวทีเสวนาห้องย่อย รวมทั้งระดมความคิดเห็น การส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ในสาขาเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจาการประชุมครั้งนี้ มีข้อเสนอที่สำคัญ ได้แก่ เร่งดำเนินการปรับมุมมองผู้บริโภค จาก “ต้นทุน” เป็น “ลงทุน” เพื่อความยั่งยืน สนับสนุนงานวิจัยและองค์ความรู้ ตลอดห่วงโซ่การผลิต การบริการและการบริโภค ส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่น รวมถึงจัดหาตลาด เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดของเสียอย่างเป็นระบบ เพิ่มระบบมาตรฐานการรับรองสินค้าและบริการ ลดกติกาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน และส่งเสริมให้ภาครัฐเกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดความตระหนักอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ สนับสนุน สินค้าและบริการที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการนำประเทศไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้