รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกันยายน และ 9 เดือนของปี 2566 ประเมินส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (21พ.ย.) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (21 พฤศจิกายน 2566) มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยประจำเดือนกันยายนและ 9 เดือนของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นการรายงานภาวะการค้าของประเทศไทยที่สำคัญ เป็นข้อมูลประกอบในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
-สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกันยายน 2566
การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (888,666 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.1 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 1.0 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตโลกเดือนนี้ยังอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.8 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยะ 1.2
-มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 48,859.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 8.3 ดุลการค้า เกินดุล 2,092.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 9 เดือนของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 431,971.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมุลค่า 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.0 ดุลการค้า ขาดดุล 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,713,976 ล้านบาท หดตัวร้อละ 5.3 เทียบกับเดือนเดืยวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 888,666 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับเดือนกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 825,310 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้า เกินดุล 63,355 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูค่าการค้ารวม 14,826,543 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับช่วงกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 7,268,400 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,558,144 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.9 ดุลการค้า ขาดดุล 289,744 ล้านบาท
-การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.0 โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 166.2 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 51.4 (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดยนีเซีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และเบนิน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 3.7 ผขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 16.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน และสิงคโปร์) ไขมันจากน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 12.8 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 27.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 3.1 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา อียิปต์) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 7.9 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ กัมพูชา และเมียนมา) ไข่ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 52.7 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน มัลดีฟส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ยางพารา หดตัวร้อยละ 30.3 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 11.2 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 7.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเยอรมัน) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และกัมพูชา) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 2.0
-การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.3 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 27.3 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อิตาลี สหราชอาณาจักร เบลเยียม และญี่ปุ่น) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยบละ 23.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเม็กซิโก) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน อิตาลี และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 28.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเม็กซิโก) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุกรณ์และส่วนประกอบ หดหตัวร้อยละ 24.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 5.5 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 27.7 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรส์) รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.6 (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเบลเยียม) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม หดตัวร้อยละ 15.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.7
-ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องและการกลับมาขยายตัวในรอบหลายเดือนของตลาดอาเซียน (5) และเอเชียใต้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังหลายตลาดยังมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยกดดันของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.2 โดยกลับมาหดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกลับมาหดตัวร้อยละ 10.0 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ และหดตัวต่อเนื่องในตลาด CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 18.1 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ในขณะที่ขยายตัวในตลาดจีนและอาเซียน (5) ร้อยละ 14.4 และร้อยละ 4.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 7.8 แอฟริกา ร้อยละ 23.0 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.6 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 33.9 ขระที่ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 11.8 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 15.0 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 423.6 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 749.8
-มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การจับมือร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการผลักดันและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า (2) การนำคณะผู้แทนการค้าไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทยกว่า 26 บริษัท เข้าร่วมงาน Saudi-Thai Business Matching 2023 ณ ซาอุดีอาระเบีย และงาน Thai-Egyptian B2B Matching Event 2023 ณ อียิปต์ เพื่อเจรจาการค้าและขยายตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารฮาลาล ผลไม้ สินค้าใช้ในบ้าน และชิ้นส่วนยานยนต์ (3) ยกระดับความร่วมมือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศลงนาม MOU ร่วมกับบริษัท ลาซาด้า จำกัด ในการร่วมมือส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนเพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าของผู้ประกอบการไทยทุกระดับได้มีโอกาสขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านร้าน TOPTHAI Storeบนแพลตฟอร์มลาซาด้า (4) นำคณะผู้ส่งออกร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้ส่งออกเข้าร่วม 76 ราย 4 กลุ่มสินค้า คาดว่าจะสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่ อาทิ เทคโลโลยีขั้นสูง ความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานการค้าดิจิทัล การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรคด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามแทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานสะอาด โดยกระทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและเดินหน้าเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าของโลกในระยะถัดไป