มหาดไทย กำหนดสเปก “วาระ ครม.สัญจร” พัฒนากลุ่ม จว.สบายดี รองรับ “เศรษฐาสัญจร” หนองบัวลำภู ครั้งที่ 1 ต้นเดือนหน้า ย้ำ เวทีกลุ่ม จว.เจ้าภาพ เน้นถก 4 ประเภท วาระการพัฒนา จว. และ 5 ประเด็นพัฒนา จว. ก่อนชง “รองฯ ภูมิธรรม” พิจารณา สรุปรอบสุดท้าย เสนอประธาน ก.บ.ก. ก่อนนำเข้า ครม. 4 ธ.ค. เผย ปี 61 ครม.ลุงตู่ เคยอัด 7 พันล้าน พัฒนากลุ่ม จว.นี้
วันนี้ ( 20 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
รวมถึงการติดตาม การตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือ กลุ่มสบายดี ประกอบด้วย จ.บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และ อุดรธานี ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2566
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย แจ้งเวียนโทรสารด่วนที่สุด ไปยังหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่จะดำเนินการจัดประชุมร่วม ก.บ.ก. กรอ. กลุ่มจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 21 พ.ย.นี้
เป็นการจัดเตรียมร่างข้อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัด (วาระ ครม.สัญจร) เสนอ ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย
หนังสือดังกล่าว ขอให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัด พิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ จังหวัด และกลุ่มจังหวัด ตามแนวทางที่กำหนด และขอให้กลุ่มจังหวัด จัดลำดับข้อเสนอในแต่ละด้านที่มีความสำคัญ
โดยแนวทางเสนอ ครม.สัญจร ให้แบ่งประเภทของประเด็นและวาระการพัฒนา เป็นข้อเสนอที่ขอรับการสนับสนุนและส่งเสริมด้านนโยบาย เร่งรัดแผนงาน/โครงการ ที่อยู่ในแผนการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ/ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
หากเป็นข้อเสนอที่จะขอรับการสนับสนุนในแผนงาน/โครงการ ที่ยังไม่อยู่ในแผนการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ
จะต้องเป็นแผนงาน/โครงการ ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ
เช่น มีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ มีแบบแปลนพร้อม ที่จะดำเนินการ หรือ มีหน่วยงานที่จะเป็นหน่วยดำเนินการแล้ว เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอแผนงาน/โครงการ ที่ต้องการประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด อย่างมีนัยสำคัญ
หนังสือเวียน ยังระบุถึงประเด็นพิจารณาของ คณะทำงานในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ว่า ข้อเสนอต้องเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
เป็นข้อเสนอต้องความสำคัญต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด มีข้อมูล ผลการศึกษาสนับสนุน
ข้อเสนอต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของส่วนราชการที่รับผิดขอบ
สุดท้ายข้อเสนอ ต้องไม่ซํ้าซ้อนกับแผนงาน/โครงการ ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน อื่นของรัฐ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ หรือได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดต้องพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอในเบื้องต้น
นอกจากนี้ ข้อเสนอควรเป็นประเด็นหรือวาระที่สำคัญที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลต่อการพัฒนา ในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในกลุ่มจังหวัด
ข้อเสนอต้องระบุหน่วยงานรับผิดชอบ และหน่วยรับผิดชอบเห็นพ้องต้องกันตามข้อเสนอ
เป็นข้อเสนอที่มีความพร้อม โดยเฉพาะพื้นที่ดำเนินโครงการ
ข้อเสนอที่จะต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมินผลกระทบ ด้านสุขภาพ (HIA)
หรือการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) จะต้องมีผลการศึกษา แล้วเสร็จ
ท้ายสุด หากข้อเสนอยังไม่มีรายละเอียดความชัดเจนในแนวทางการดำเนินการ แต่เป็นความต้องการ ในการพัฒนาหรือแกไขปัญหาของพื้นที่
โดยเฉพาะโครงการที่มีขนาดใหญ่ หรือส่งผล กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง อาจจะเสนอขอให้มีการศึกษาก่อนได้
ทั้งนี้ วันที่ 21 พ.ย. กลุ่มจังหวัด จะเริ่มนำเสนอร่างวาระ ตามแนวทางข้างต้น เพื่อรายงานมหาดไทย ก่อนเสนอนายภูมิธรรมในเร็วๆ นี้ และวันที่ 3 ธ.ค. ที่ จ.หนองบัวลำภู จะนำเสนอ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) ก่อนเสนอ ครม.ในวันที่ 4 ธ.ค.ต่อไป
สัปดาห์ก่อน ครม.มอบหมายภารกิจให้ สภาพัฒน์ สลค. สำนักงบประมาณ และมหาดไทย จัดการประชุมบูรณาการการพัฒนา “กลุ่มจังหวัดสบายดี”
มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัด “วาระ ครม.สัญจร” ดังกล่าว
มีรายงานว่า ใน ครม.สัญจร ครั้งนี้ จะมีการบรรจุ แผนงาน/โครงการ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ (ปีพุทธศักราช 2567) ให้แก่ประชาชนด้วย
ขณะที่ การประชุม ครม.สัญจร กลุ่มสบายดี ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 13 ธ.ค. 2561 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1
มีการเห็นชอบแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดใน 5 แนวทาง ที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองเลย
ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 139 กิโลเมตร
การก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ด่านพรมแดน บ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว จังหวัดเลย
การก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (สามพร้าว) ระยะ 2
การก่อสร้าง Landmark ประติมากรรมพญานาคราชคู่ มิตรภาพแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ณ วัดอาฮงศิลาวาส ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เป็นต้น
คราวนั้น ครม.สัญจร อนุมัติงประมาณให้กลุ่มจังหวัดสบายดี รวมกว่า 7 พันล้านบาท เน้นการท่องเที่ยว 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง รองรับไฮสปีดเทรน เชื่อมหนองคาย-ลาว-จีนตอนใต้.