xs
xsm
sm
md
lg

"ธีระชัย" แนะ รมว.พลังงาน แก้มติ กบง.เลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ ป้องกันโรงกลั่นบวกกำไรลาภลอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ธีระชัย" แนะ "พีระพันธุ์" ราคาน้ำมันขึ้นลงตามราคาตลาดโลก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่มติ กบง.ปี 61 ที่ให้ตั้งราคาหน้าโรงกลั่นอ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ โดยใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 วันแต่ไม่ได้ระบุว่าย้อนหลังไปวันใด เอกชนจึงเลือกวันได้ตามใจชอบเพื่อบวกกำไรลาภลอย วิธีป้องกันจะต้องยกเลิกอ้างอิงราคาสิงคโปร์ กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของไทยเอง

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความคิดเห็นกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่พอใจที่มีการขึ้นราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 2 บาท ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งลดภาษีให้ และเห็นว่าน้ำมันไม่ใช้หุ้นที่จะปล่อยให้ขึ้นลงเสรีตามตลาดโลก ทั้งที่ม่ีรัฐบาลดูแลอยู่ และเตรียมจะแก้ไขกฎหมายเพื่อรื้อโครงสร้าง ไม่ให้ประชาชนแบกภาระ

โดยนายธีระชัย ได้แสดงความเห็นดังนี้


ในรูป 1 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีพลังงาน ของขึ้น
บอกน้ำมันไม่ใช่หุ้น หลังเบนซินขึ้น 2 บาทไล่หลัง รบ.ปรับลดภาษี
ฉะถ้าปล่อยเสรีตามตลาดโลก อย่ามีรัฐดีกว่า ชี้ต้องรื้อระบบโครงสร้าง ไม่ให้ประชาชนแบก

ผมดีใจ ที่ท่านกล่าวว่าต้องรื้อระบบโครงสร้าง ซึ่งเป็นการเดินถูกทางครั้งแรก หลังจากเดินผิดไปก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ถ้าหากท่านรัฐมนตรีใช้วิธี learning on the job คือทำงานไป ค่อยเรียนรู้ไป
กว่าท่านจะร่างกฎหมายของท่านเสร็จ เพื่อจะรื้อระบบโครงสร้าง ประชาชนอาจจะต้องรอไปอีกนานมาก

ผมได้ข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) และขอแนะนำแก่ท่านดังนี้
หนึ่ง ปัญหาเกิดจากมติ กบง. ไม่ใช่จากกฎหมาย


รูป 2 มติ กบง. เมื่อ 20 เม.ย. 2561 ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็น รมว.พลังงาน
มติกำหนดให้ ราคาหน้าโรงกลั่นของไทย อ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ Mean Of Platts Singapore (MOPS)
ซึ่งก็คือราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ ตามที่ประกาศเป็นรายวันโดยองค์กรชื่อ Platts
มติระบุให้ใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 วันจากวันที่ประกาศปรับราคา (ในรายงานการประชุม ระบุเป็น 2 วัน)

ถามว่า มตินี้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร
ตอบว่า ปัญหาเกิดจาก คำว่าราคาเฉลี่ยย้อนหลังนั้น ไม่ได้ระบุว่า ย้อนหลังไปวันใด
ภาคเอกชนสามารถเลือกวันที่จะประกาศปรับราคาได้เอง
ตรงนี้แหละ โรงกลั่นจะสามารถพลิกแพลงได้ เช่น
กรณีถ้าราคาสิงคโปร์สูงขึ้น ก็ย่อมสามารถย้อนหลังไปจากจุดใกล้สุด คือนับย้อนไปจากเมื่อวาน ที่ราคาเพิ่งสูงขึ้น
กรณีถ้าราคาสิงคโปร์ลดต่ำลง ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นนับจากเมื่อวาน แต่สามารถถอยหลังไป สู่จังหวะราคาก่อนลดลง

ถามว่า คปพ. เคยเสนอแนวคิดเพื่อป้องกัน อย่างไร

คปพ. เสนอว่า วิธีป้องกันไม่ให้โรงกลั่นฉวยเอากำไรลาภลอย ในช่วงที่ราคาตลาดโลกต่ำลง
ก็คือให้เปลี่ยน ช่วงเวลาในการอ้างอิง
สำหรับราคาที่จะใช้ในประเทศไทย (เช่น ในสัปดาห์ที่สอง) ให้อ้างอิง MOPS ของสัปดาห์ก่อนหน้า (คือสัปดาห์ที่หนึ่ง)
โดยเฉลี่ยทุกวันของสัปดาห์ก่อนหน้า ที่มีการประกาศราคาโดย Platts
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ กระทำได้โดยการออกเป็นมติ กบง. ใหม่เท่านั้น ไม่ต้องรอแก้ไขกฎหมาย

ถามว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเสนอของ คปพ. จะป้องกันไม่ให้คนไทยเดือดร้อน จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ได้หรือไม่
ตอบว่า ป้องกันไม่ได้ และไม่ควรคิดจะป้องกัน เพราะเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น คนไทยก็ต้องยอมควักกระเป๋ามากขึ้น
หรือมิฉะนั้น คนไทยก็ต้องหาทางประหยัด ใช้น้ำมันให้น้อยลง
การที่รัฐบาลจะช่วยให้คนไทย ใช้น้ำมันราคาถูกกว่าตลาดโลก นั้น รัฐบาลก็จะต้องกู้หนี้สาธารณะ หรือให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นผู้กู้
รัฐบาลจึงจะต้องคิดไว้ก่อนว่า จะหาเงินจากที่ไหนมาชำระคืนหนี้เหล่านี้

ถามว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอของ คปพ. แล้ว โรงกลั่นน้ำมันในไทย ยังจะมีโอกาสได้กำไรลาภลอย อีกหรือไม่
ตอบว่า ยังจะมีโอกาสได้กำไรลาภลอย ถ้าหากกำลังการกลั่นน้ำมันในตลาดโลก ในบางช่วงเวลา ไม่พอกับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป
กรณีนี้ โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก จะสามารถบวกกำไรค่าการกลั่นต่อลิตร สูงขึ้นเป็นห้วงเวลาหนึ่ง
ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ภายหลังสงครามยูเครน

ถามว่า ถ้า กบง. จะแก้กฎกติกา เพื่อป้องกันโรงกลั่นน้ำมันในไทย ไม่ให้บวกกำไรลาภลอย บวกค่าการกลั่นต่อลิตรสูงขึ้น ทั้งที่ต้นทุนการกลั่นคงเดิม จะต้องทำอย่างไร
ตอบว่า จะต้องเลิกอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์
แล้ว กบง. กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของไทย โดยใช้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยย้อนหลังของสัปดาห์ก่อน
แล้วจึงค่อยให้โรงกลั่นในไทย บวกกำไรค่าการกลั่นต่อลิตร ซึ่งกำหนดเป็นเพดาน เปลี่ยนแปลงได้ทุก 3 เดือน
จึงขอให้เป็นข้อมูล ข้อแนะนำแก่ รมว.พลังงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น