xs
xsm
sm
md
lg

“ชนินทร์” เผย ประชามติแก้ รธน.คืบหน้า รัฐบาลหวังทำให้สำเร็จ ชูจุดร่วมในความเห็นต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชนินทร์” เผย ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญคืบหน้า รัฐบาลหวังทำให้สำเร็จ เชื่อ การชู “จุดร่วม” ในความเห็นต่างเอาชนะเงื่อนไข double majority ได้

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้ทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมหลายภาคส่วน ซึ่งการจัดการรับฟังความคิดเห็นครั้งล่าสุดที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดพิธีนั้น มีความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาสังคมต่างๆ ที่หลากหลายในหลายประเด็น เช่น ความเห็นเรื่ององค์ประกอบของ ส.ส.ร. ที่บางส่วนอยากให้เลือกตั้ง 100% ในระหว่างที่บางกลุ่มอยากให้คำนึงถึงความหลากหลายและครอบคลุม หรือมีองค์ประกอบที่เป็นผู้มีความชำนาญเฉพาะทางด้วย และความเห็นเรื่องการดำรงความในหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ว่าจะเป็นการดึงการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น


นายชนินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการก็ได้เข้ารับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนพรรคก้าวไกลเช่นกัน และได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นที่ได้รับฟังมาจากกลุ่มอื่นๆ ให้ทราบ เนื่องจากพรรคไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการฯ การเข้าพบในวันนั้นพรรคก้าวไกลได้เสนอเกี่ยวกับการทำประชามติหลายประการ รวมถึงมีการเสนอปรับเปลี่ยนคำถามให้กระชับขึ้นว่า “เห็นชอบหรือไม่ว่า ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.” ซึ่งต่างจากที่เคยเสนอเข้าสภา เพราะเชื่อว่าจะสามารถโอบรับความเห็นต่างได้มากขึ้น เพื่อเอาชนะเงื่อนไขในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติ เรื่อง “เสียงข้างมากสองชั้น” หรือ Double Majority ที่ต้องมีผู้ให้ความเห็นชอบต่อคำถามมากอย่างกว้างขวาง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นอื่นๆที่คณะอนุกรรมการฯได้รวบรวมความเห็นมาว่า สังคมมีความเห็นที่แตกต่างในหลายประเด็น จึงได้น้อมรับความเห็นไว้เพื่อพิจารณาแนวทางที่รัดกุมต่อไป

“รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ตั้งใจอย่างถึงที่สุดที่จะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของประชาชน และน้อมรับความเห็นที่แตกต่างหลากหลายในสังคม เพื่อออกแบบการดำเนินการที่รัดกุมด้วยข้อกฎหมาย และยึดเอาจุดร่วมที่สังคมเห็นฟ้องร่วมกันแล้วเป็นแกนหลัก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อนครั้งนี้จะได้รับความเห็นชอบมากพอให้สำเร็จ และประเทศไทยจะได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามที่ประกาศไว้” นายชนินทร์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น