xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.มติเอกฉันท์ ม.165 วรรคสาม และ ม.170 วรรคหนึ่ง ป.วิอาญา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยได้เลยไม่ต้องไต่สวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มติเอกฉันท์ศาล รธน.วินิจฉัย มาตรา 165 วรรคสาม และ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ป.วิอาญา ไม่ขัด รธน. ระบุ คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ต้องทำการไต่สวน

วันนี้ (15 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสามที่บัญญัติว่า “ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย รายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น” และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “คำสั่ง ของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วย ลักษณะอุทธรณ์ฎีกา” ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลจังหวัดชลบุรีได้ส่งคำโต้แย้งของ นายวีระศักดิ์ ไชยสุขเจริญกุล ที่ 1 นายนรพัทธ์ ตียพันธ์ ที่ 2 และนายเอกชัย รุ่งนิศากร ที่ 3 จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 772/2565 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ซึ่งก่อนมีมติ ศาลฯ ได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและเห็นว่าคำโต้แย้งของจำเลยทั้งสาม และเอกสารประกอบไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามแสดงเหตุผลประกอบคำโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสองถึงวรรคห้าอย่างไร จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้ และเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น