ห่วงคนป่วยเบาหวานพุ่งกว่า 3 ล้านคนป่วยเบาหวาน รพ.จุฬาฯ - สสส. สานพลังเปิดพื้นที่สื่อสารสุขภาพ เผยตัวเลขคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชาต่อวัน ระดมภาคีพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เร่งคัดกรองเบาหวาน-คุมอาหาร เสริมเกราะป้องกันโรค NCDs
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ที่อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในพิธีเปิดงานวันเบาหวานโลก 2566 “World Diabetes Day 2023” ว่า ใน 1 ปี มีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 3 ล้านคน ที่น่าห่วงคือ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีถึง 3 แสนคนต่อปี ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแบบครบวงจร แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในผู้ป่วยเบาหวาน ภายใต้หัวข้อ เบาหวาน..รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน... ภายในงานมีการตรวจระดับน้ำตาล ประเมินความเสี่ยง แนะนำโภชนาการ และการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
“ผู้มีความเสี่ยงป่วยโรคเบาหวานอาจไม่แสดงอาการเบื้องต้น กลุ่มคนอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวาน ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งไว้ถึง 20 ล้านคน ทั้งนี้ สามารถตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ผ่านออนไลน์ในรูปแบบตารางประเมินผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวานง่ายๆ หรือหากมีอาการข้างต้นควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคที่โรงพยาบาล เพื่อรับการรักษา ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนในอนาคต ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด และ CUEZ endocrine” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้คนไทยกินอาหารและเครื่องดื่มที่หวานเกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2565 พบคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชาต่อวัน เกินกว่าที่องค์การอนามัย (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรือมากกว่า 4 เท่า เป็นต้นเหตุของภัยเงียบสุขภาพที่ทำให้อ้วนลงพุง ทำให้เกิดไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มค่าใช้จ่ายในครอบครัว
“สสส. สานพลังภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งป้องกันโรคที่ต้นทาง พัฒนานวัตกรรมช่วยสนับสนุนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น แอปพลิเคชัน Food Choice สแกนบาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร การทำงานเชิงระบบ เช่น เกณฑ์การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo)เป็นกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรมใช้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มลดหวาน มัน เค็ม เกิดการผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานระดับชาติ เสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กนักเรียน ขยายผลร้านกาแฟอ่อนหวาน โรงพยาบาลอ่อนหวาน โรงเรียนบูรณาการอ่อนหวาน รวม 2,624 แห่ง ล่าสุด จัดทำสื่อภายใต้โครงการลดหวาน ลดโรค กระตุ้นให้ผู้บริโภคสั่งเครื่องดื่มชงเย็นหวานน้อยไม่เกิน 2 ช้อนชา ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน ต้องทำควบคู่กับการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs ในระยะยาว” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว