xs
xsm
sm
md
lg

นับหนึ่ง! “ผู้ว่าซีอีโอ” มท.จ่อยกร่าง “ระบบบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ” คาดให้อำนาจเทียบเท่า “เลขาธิการ อีอีซี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับหนึ่ง! นโยบาย “ผู้ว่าซีอีโอ” มหาดไทย จ่อยกร่าง ข้อเสนอการพัฒนาระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ชง ครม.ในเร็วๆ นี้ “ปลัด มท.” นัดคณะทำงานเชิญ “ก.พ.- กพร.” ถก คาดใช้แนวทางให้อำนาจ เทียบเท่า “เลขาธิการ อีอีซี” ที่มีอำนาจครอบจักรวาลในพื้นที่ ทั้งแนวทางดำเนินการ ปรับเพิ่มงานบริหารบุคคล การมอบอำนาจ รวมถึงกรณีหากไม่สามารถมอบอำนาจให้ได้ อาจเสนอให้แยก อนุมัติ/อนุญาต หน่วยงานอื่นให้ชัดเจน

วันนี้ (8 พ.ย. 2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้า ต่อนโยบายรัฐบาล “ผู้ว่าซีอีโอ” ตามข้อแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดินในส่วนภูมิภาค

ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำการบูรณาการส่วนราชการกับทุกภาคส่วน

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ป.มท.) มีข้อสั่งการถึง สำนักนโยบายและแผน สป.มท. หารือกับ กองการเจ้าหน้าที่ (กจ.สป.มท.)

ก่อนนำเสนอ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านกิจการความมั่นคงภายใน (รอง ปมท. (ม.))

เพื่อจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอการพัฒนาระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ผู้ว่าซีอีโอ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยให้เชิญ สำนักงาน ก.พ. และ สำนักงาน กพร. มาประชุมสรุปร่วมกันอีกครั้งก่อนเสนอ ครม. ในเร็วๆ นี้

สำหรับการยกร่างดังกล่าว สืบเนื่องจาก สมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ได้เข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

“ที่ต้องการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงาน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” หนึ่งในโครงการจังหวัดต้นแบบ “PPP - สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ : เมืองคาร์บอนตํ่า” เป็นเรื่องเดียวกัน กับเรื่องผู้ว่า ซีอีโอ”

โดยให้ศึกษาแนวทาง ที่มีการมอบอำนาจให้แก่ “เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern. Economic Corridor: EEC)”

เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ และปรับเพิ่มในเรื่องของการบริหารงานบุคคล การมอบอำนาจอื่นๆ

“หรือ กรณีไม่สามารถมอบให้ได้ก็ฃอให้แยกออกมาว่าการอนุมัติ อนุญาต เรื่องใดที่ต้องขอให้หน่วยงานกำหนด ระยะเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน”

สำหรับ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่สมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย เสนอต่อ มท. 1 ต้องการให้ผู้ว่าฯ สระบุรี สามารถพิจารณาแนวทางอำนวยความสะดวกต่างๆ และลดความซํ้าซ้อน แก้ไขอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ

รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับ

จากการพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยแนวคิด "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที และใช้กลไกอำเภอและท้องถิ่นมาร่วมดำเนินการ

“ในเรื่องการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) รวมทั้งพิจารณาเรื่อง “แหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอ” และคำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายย่อย”

สำหรับ “ผู้ว่าฯ สระบุรี” ที่จะประเดิม การเป็น ผู้ว่าซีอีโอ มีคำสั่งให้รายงานผลการดำเนินงานโครงการ ดังกล่าวให้ ปลัด มท. ทราบเป็นประจำทุกวัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น