วันนี้(5 พ.ย.)สำนักวิจัย สยาม เทคโน โพล (Siam Techno Poll) วิทยาลัย เทคโนโลยี สยาม เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ความเสี่ยงเอดส์ของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,021 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 ต.ค. – 4 พ.ย. ที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 ระบุ เคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนผ่านทาง แอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ ในขณะที่ร้อยละ 34.3 ระบุ ไม่เคย เมื่อถามต่อถึงประสบการณ์พบเจอ คนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ พบว่า เกินครึ่ง หรือร้อยละ 51.4 ระบุ เคยพบเจอ คนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ และร้อยละ 48.6 ระบุ ไม่เคย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยว กับคนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 ระบุ ไม่เคย และในขณะที่ ร้อยละ 34.3 ระบุ เคยเดินทางท่องเที่ยว กับคนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ เมื่อถามต่อถึงประสบการณ์ที่คนที่รู้จักกันผ่าน แอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ มาพบที่บ้านพัก พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.0 ระบุ ไม่เคย ในขณะที่ร้อยละ 20.0 ระบุ คนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ มาพบที่บ้านพัก
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึง ประสบการณ์เคยนอนพักห้องพักเดียวกันกับคนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 74.3 ระบุ ไม่เคย ในขณะที่ ร้อยละ 25.7 ระบุ เคยนอนพักห้องพักเดียวกันกับคนที่รู้จักกันผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ทางออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์
จากผลการสำรวจยังพบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ สภาวะความเสี่ยงต่อโรคเอดส์ของคนไทย พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.1 ระบุ ขณะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือคู่รัก ไม่ป้องกัน ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ในขณะที่ ร้อยละ 51.4 ระบุ รู้สึก เขิน อาย เวลาซื้อสินค้าเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุม ร้อยละ 28.6 ระบุ มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น นอกจาก แฟนหรือคู่รัก มากกว่า 1 คน และร้อยละ 17.6 ระบุ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ให้บริการทางเพศ สถานบริการต่าง ๆ เช่น อาบอบนวด บริการทางเพศผ่านออนไลน์ สถานบันเทิง โรงแรม เป็นต้น
ด้านนายธนากร พงษ์ภู่ นักวิจัยสำนักวิจัยสยามเทคโน โพล กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากข้อมูลและปัจจัยต่างๆ ความเสี่ยงเอดส์ของคนไทย จะเห็นได้ว่าคนไทยมีความเสี่ยงเอดส์จำนวนมากในหลายกลุ่มประชากร ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งพฤติกรรมส่วนบุคคล ทัศนคติและความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ รวมถึงการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ที่ล่าช้า เพื่อลดความเสี่ยงเอดส์ของคนไทยอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการทำงานอย่างเข้มแข็งกับภาคประชาสังคมในการออกแบบมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ทันกับยุคสมัยคนรุ่นใหม่ในโลกดิจิทัลที่ทุกอย่างอยู่บนฝ่ามือ ส่งผลให้เกิดการพฤติกรรมเพศสัมพันธ์แบบ ใจเร็ว ด่วนได้ และได้เชื้อเอชไอวี เข้ามาอันเป็นสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงที่กำลังแพร่ระบาดขึ้นในกลุ่มประชากรกลุ่มต่าง ๆ เวลานี้ ประชาชนควรตระหนักถึงความเสี่ยงของตนเองและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างเคร่งครัด
นายธนากร กล่าวต่อว่า ควรปรับรูปแบบการเข้าถึงการป้องกันและการรักษามุ่งเน้นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะมันมีโอกาสก้าวข้ามและไขว้คนในช่วงอายุต่างกันได้ การรณรงค์เรื่องความเสี่ยงเอดส์ทุกระยะจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งก่อนเป็น ระหว่างเป็น และเมื่อรู้ว่าเป็นแล้ว ควรมีความรู้ความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับโรคเอดส์ และทำให้เรื่องการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์และเรื่องเพศด้านอื่นๆ เป็นเรื่องธรรมดาในการแสดงตนจับจ่ายใช้สอยสินค้าเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่นำมาพูดคุยและให้คำปรึกษากันได้โดยไม่เขินอาย อย่างไรก็ตาม อาจจะยังมีความจำเป็นในการมีกลุ่มให้คำปรึกษา โดยไม่เปิดเผยตัวตนกันได้ ในกรณีของคนที่ไม่ต้องการแสดงเปิดเผยตนในเรื่องความเสี่ยง และการรักษาโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นกับตนเองผ่านทางเครือข่ายภาคประชาสังคมที่จริงจัง และต่อเนื่อง