วันนี้(2 พ.ย.)นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยนายณัฐพล ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าโครงการในเฟส 2 ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เตรียมประกาศรายชื่อบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและข้อมูล โดยคาดว่า 1-2 เดือนนี้ จะสามารถประกาศชื่อผู้ชนะได้แน่นอน
ขณะที่ มีรายงานว่า บริษัทผู้ชนะการประกวดราคา โครงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 นั้น พบมีข้อมูลอยู่ในระบบอีบิดดิ้ง ว่า มีผู้แข่งขัน 2 รายและมีผู้รับการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุด อยู่ที่ 844,230,000 บาท
ส่วนงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้าง ได้แก่
1. สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117
2. สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ (Work Shop)
3. ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบมาตรฐาน UN R117
4. LAB ทดสอบการชน
ทั้งนี้หากสมอ.มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาฯ ก็จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ในทันที เพื่อให้ดำเนินโครงการในแต่ละระยะ แล้วเสร็จตามกรอบเวลาของโครงการทั้งหมด เปิดใช้บริการได้ในปี 2569
สำหรับโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ใช้พื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 55 % ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45 % ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียนและอันดับที่ 11 ของโลก
การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ