xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กสทช.พร้อมตอบชัดทุกประเด็น กรรมาธิการวุฒิฯคลายปมขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานกสทช.ยึดหลักกฎหมายบริหารงาน ย้ำกำกับดูแลแต่ไม่ลุแก่อำนาจ ทั้งกรณีตั้งเลขาธิการกสทช.และควบรวมทรู-ดีแทค พร้อมชี้แจง กรรมาธิการสว. กรณีความขัดแย้งและถูกตีรวนในการประชุมบอร์ด ชี้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง แต่อาจไม่ถูกใจบางกลุ่ม

จากกรณีที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยี สารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของกสทช.เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ตรงกัน โดยมีพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทาง กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการกสทช.คนใหม่ พร้อมรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้งภายในกสทช.และรายงานวุฒิสภาใน 90 วันนั้น
.
นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ที่ได้เข้ามาบริหารงานกว่า 1 ปี คือพันธกิจทำให้กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลที่ได้รับความน่าเชื่อถือในสังคม ทั้งประเทศไทยและนานาชาติ ดังนั้น การบริหารองค์กรทุกอย่างจึงต้องยึดถือความถูกต้องและกระบวนการทางกฎหมายเป็นสำคัญ
.
“ประธานกสทช.พร้อมเปิดกว้างทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวุฒิสมาชิกก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทน่าสนใจ เชื่อว่าหาก สว. ได้รับฟังเหตุผล ข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแล้ว ก็จะมีความเห็นที่ตรงกันถึงการบริหารองค์กรอิสระที่ยึดหลักกฎหมายเช่นเดียวกัน”
.
ส่วนกรณีที่ นายวันชัย สอนศิริ และ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นห่วงเรื่องการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างผู้บริหาร รวมถึงกรณีกรรมการเสียงข้างมาก 4 เสียง จับมือกันโหวตคว่ำวาระการประชุมนั้น ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. มองว่า ที่ผ่านมาการบริหารงานและตัดสินใจเรื่องสำคัญ จะมีคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ที่มี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน พิจารณาอยู่ตลอด รวมถึงสอบถามสำนักงานกฤษฏีกาในประเด็นที่สำคัญ ตั้งแต่เรื่องการควบรวม ทรู-ดีแทค และตั้งเลขาธิการกสทช.คนใหม่ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้บริหารโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือรวบรัดตัดตอน แต่ยึดหลักปฏิบัติตามกรอบที่มอบให้ประธานกสทช.หรือกสทช. ใช้ดุลยพินิจภายใต้ระเบียบกฎหมายอย่างชัดเจน
.
ประธาน กสทช. เน้นย้ำว่า ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ สังคมต้องไม่มีข้อกังขากับกสทช โดยสังคมมักเห็นว่า กสทช เป็นผลผลิตของระบอบเผด็จการ จากการปิดสื่อประชาธิปไตยในช่วงรัฐบาลทหาร แต่กสทช. ชุดนี้เป็นตัวแทนภาคประชาสังคม มาทำหน้าที่จัดสรรทรัพย์สินของชาติอย่างถูกต้องเป็นธรรม พัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ จะทำได้ก็ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ การปฎิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดการลุแก่อำนาจ จนไปกระทบผู้อื่นและประชาชน

“เราต้องชัดเจน อย่าไปใช้อำนาจ ในสิ่งที่เราไม่มี และทิ้งอำนาจในส่วนที่เรามี เพราะนั่นคือการเป็นเสือกระดาษ ทำได้แค่ขู่ แต่ทำอะไรจริงไม่ได้ เพราะเรามโนอำนาจขึ้นมาเอง แต่หากเราปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่เรามี ได้อย่างเคร่งครัด ประชาชนย่อมได้รับประโยชน์สูงสุด”

กสทช. เป็นจำเลยของสังคมมามากแล้ว จึงต้องเรียนรู้เพื่อแก้ไขในสิ่งผิดพลาด จากที่ชอบทำตามอำเภอใจหรือทำเกินเลยหน้าที่ก็เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้องค์กรถูกฟ้อง หรือกระทบความเชื่อมั่นต่อธุรกิจและสังคมได้ ต้องทำให้สังคมเข้าใจ เช่นในเรื่องการควบรวม ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้ให้อำนาจการอนุญาต แต่กสทช มีอำนาจในการออก มาตรการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
.
หลังจากนี้ มองว่า กสทช. ต้องเร่งขับเคลื่อนผลงาน ให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง (MVNOs) เพื่อให้เกิดการแข่งขันการบริการ การจัดให้มีระบบแจ้งเตือนภัยผ่านผู้ประกอบการ การจัดให้มีบริการที่ทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม

การทำดัชนีราคาผู้บริโภคทางโทรคมนาคมเพื่อควบคุมราคาของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ การพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาการ และการออกแบบการป้องกันภัย อาชญากรรม ระบบ call center ร่วมกับตำรวจ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องอำนาจทางกฎหมายและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค




กำลังโหลดความคิดเห็น