xs
xsm
sm
md
lg

"วราวุธ" สุดฟิตช่วยประชาชน "บ้านของมันต้องมี" รับไอเดียตั้งกองทุนที่อยู่อาศัย เหตุไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (30 ต.ค.) เวลา 13.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปาฐกถาในการเสวนา “The Visual Talk : Home & Hope คนไทยต้องมีบ้าน” วาระ: สิ่งที่หวังจะสร้างฝัน การมีบ้านของคนไทย จัดโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เพื่อรับฟังแนวคิดและมุมมองจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของคนไทย

นายวราวุธ กล่าวว่า "เวทีนี้เป็นเวทีแรกที่ผมจะพูดเรื่องบ้าน การเป็นรัฐมนตรีไม่ใช่อัจฉริยะเรื่องนั้นเลย ถ้าบกพร่องก็ขออภัย คำว่าสวัสดิการสังคม คือพี่น้องประชาชนจะเข้าถึงพื้นฐานหลายอย่าง เช่น การศึกษา รวมทั้งการมีบ้านเป็นของตนเอง"

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหามาช้านาน การเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง เเละปลอดภัย เพราะบ้านเป็น 1 ในปัจจัยสี่ เเต่ปัญหาการไม่มีบ้านอยู่อาศัย ส่วนใหญ่เกิดในเมืองใหญ่ เเละเป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่ ไม่สามารถมีอาชีพที่มีรายได้พอชำระค่าที่อยู่อาศัย ทำให้คนบางกลุ่มไร้ที่อยู่

"ภูมิศาสตร์ทำให้คนส่วนใหญ่มากระจุกตัวตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่แออัดไม่ได้มาตรฐาน ตามตัวเลขกว่า 5 ล้านคน ไม่มีที่อยู่ เป็นคนมีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง อพยพเข้ามาเป็นคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่จะมีอายุมากคือ 51-60 ปี

วันนี้เมืองไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบที่น่ากลัว 7-8 ปี จากนี้ไป สังคมไทยจะเข้าสู่สถานะซุปเปอร์เอจโซไซตี้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอดเกิน 21% ของคนไทยทั้งหมด วันนี้อีกประมาณ 1% กว่าจะถึงจุดนั้นแล้ว สาเหตุที่มีคนสูงอายุมากขึ้นคือระบบสาธารณสุขดีขึ้น มีพัฒนาการดีขึ้น คนเกิดใหม่เกิดใหม่น้อยลง การที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้มีการ พึ่งพิงประชากรวัยทำงานหรือเจเนอเรชั่นเดอะแบก 15 -60 ปีต้องดูแล ทำให้มีความท้าท้ายด้านกำลังซื้อจะมีจำกัดมากขึ้น คนทำงานน้อยลงเเต่คนที่ต้องการการดูแลมีเพิ่มมากขึ้น"

"ในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่วันนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงมาก แล้วใครจะมีปัญญาซื้อ คนรุ่นใหม่จบออกมาปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปซื้อ"

นายวราวุธ กล่าวว่า กำลังซื้อมายังไม่เพิ่มขึ้น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีต่างชาติเข้ามาซื้อมากแต่คนไทยไม่มีกำลังซื้อทำให้คนเปลี่ยนมาเช่าที่อยู่อาศัยแทน คนเช่าบ้านมากกว่าคนซื้อบ้านเพราะเหมาะสมกับคนที่มีรายได้น้อยสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นความเหลื่อมล้ำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยมาโดยตลอด

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ฉะนั้นความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญและเป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามแผนแม่บทภายในปี 2579 คนไทยจะต้องมีที่อยู่อาศัย มีสภาพความเป็นอยู่ทีดี ชุมชนน่าอยู่ปลอดภัย สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด การทำให้ประเทศดำเนินการแผนทั้งหมดนี้เป็น ภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

"เมื่อผมเข้ามาทำงานได้สองเดือนได้เห็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงการใช้แนวคิดสมาร์ทซิตี้ที่เข้ามารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆผ่านแอพพลิเคชั่น มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น เช่นไฮสปีดอินเตอร์เน็ต"

นายวราวุธ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับการเคหะแห่งชาติเป็นองค์กรที่สำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบายให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนหน้า มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579 พูดถึงบริบทของเมืองและชนบท เเต่ พอช. ทำงานคนเดียวไม่ได้เพราะต้องร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล อบจ.ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขชุมชนแออัดในแต่ละเมืองใหญ่ บุกรุกที่ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ หรือที่อยู่ในต่างจังหวัด

นายวราวุธ กล่าวเสริมว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-65) พอช.ได้รับงบประมาณแก้ไขปัญหาในประชาชนประมาณ 1.4 แสนครัวเรือน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯมีภารกิจเยอะ แต่งบประมาณสวนทางกับภารกิจของกระทรวง คตนได้ขอร้องผอ.สำนักงบประมาณเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้ประมาณการความต้องการที่อยู่อาศัยว่าในปี 2560-2570 พบว่าความต้องการของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่อยู่อาศัย และคนรุ่นใหม่ทำงานรายได้ยังไม่มากแต่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองนั้น พวกเขาจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

"จากผลสำรวจคนรุ่นใหม่สามารถรับค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยได้ 500,000 บาทต่อราคาของที่พัก จึงเป็นที่มาราคาที่พักถึงอยู่ในราคาหลักแสน"

นายวราวุธ กล่าวเเละว่า ขณะที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีที่อยู่ที่เข้ากับสภาพที่ตัวเองเป็น โดยผู้สูงอายุหรือคนพิการต้องมีบ้านเข้ากับสถานะ ตนเข้ามาทำงานในกระทรวงนี้ได้พูดถึงการสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลง สามารถเป็นบ้านที่มีกำลังซื้อ ให้คนสามารถซื้อได้และขนาดนี้ตนกำลังหารือกับพอช.และการเคหะฯว่าจะเริ่มโครงการนี้ได้เร็วที่สุดเมื่อใด

นายวราวุธ กล่าวว่า "และสำคัญที่สุดเมื่อคนไทยมีบ้านที่บอกว่าของมันต้องมี บางอย่างไม่ต้องมีบ้างก็ได้ บางท่านได้บ้านไปแล้ว มีที่อยู่แล้ว ขอความกรุณาอย่าเอาไปจำนอง เอาเงินออกมาไปใช้หนี้ เพราะบ้านเป็นสิ่งสำคัญในปัจจัยสี่ เมื่อมีบ้านแล้วต้องรักษาไว้ให้ดี กระทรวงพม. มีภารกิจที่สำคัญต้องดูแลพี่น้องประชาชนทุกคน และเราทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน และตนมั่นใจว่าคนไทยเมื่อทำอะไรด้วยกันแล้วไม่มีอะไรที่คนไทยทำด้วยกันไม่ได้"

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาล จะออกนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับระยะเวลาในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัย คล้ายกับการผ่อนรถยนต์ในระยะเวลาในเกิน10 ปี และตัดเงินต้นมากกว่าดอกเบี้ย นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้ากระทรวงพม.จัดการเองได้หมดตนเซ็นให้เลย แต่บังเอิญบังทำเองไม่ได้ ยิ่งพูดถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยตัดต้นตัดดอกจริงเป็นเรื่องที่อยากทำ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่มีสิทธิ์มีเสียง ขอรับเป็นการบ้าน

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะจัดโครงการบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรม นายวราวุธ ตอบว่า ต้องได้ เพราะคือภารกิจของการเคหะฯ ซึ่งทราบดีว่าการเคหะฯมีปัญหาหลายเรื่องที่ประชาชนอาจไม่ตรงใจ แต่การเคหะฯได้จัดทำบ้านที่มีห้องนอน/ห้องนั่งเล่นราคาถูก ดังนั้นการหาที่อยู่ที่มีราคาเหมาะสมไม่ต้องรอการเคหะฯทำได้ ถ้าหากมีปัญหากับการเคหะฯบอกว่าทำไม่ได้ขอให้มาแจ้งกระทรวง พม. และตนจะไปดูปัญหาอยู่ตรงไหนจะได้มาแก้ไขกัน

เมื่อถามว่า รัฐบาลสามารถออกข้อบังคับเรื่องกรอบราคาที่อยู่อาศัย ณ ปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะเป็นรัฐมนตรี ตนเคยบริหารสโมสรฟุตบอล สมัยนั้นค่าตัวนักฟุตบอลแพง ต่างประเทศก็มีการกำหนดค่าตัวนักฟุตบอลไม่เกินเท่านั้นเท่านี้และสโมสรจ่ายตรงตามนั้นในบัญชี แต่พบว่าไปจ่ายนอกบัญชีอีก ฉะนั้นถ้าถามว่ารัฐบาลออกข้อกำหนดได้ไหม เช่นไม่ให้เกิน 2 ล้านบาท แต่พอมีดีมานด์เข้ามาก็จะมีค่าอื่นๆตามมาอีกทำให้เกินราคาอยู่ดี ประเด็นคือทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ทำให้ไม่มีการจ่ายเพิ่มถ้าหากกำหนดราคาออกมาแล้วจ่ายตามนั้นจริง

"อันนี้เป็นเรื่องท้าทายแต่นั่นเป็นเรื่องภาคเอกชนเราไม่สามารถควบคุมราคาการตลาดให้อยู่ราคาเท่าไหร่อย่างไร เป็นกลไกอสังหาริมทรัพย์"

เมื่อถามว่า เเนวคิดเฮ้าส์ซิ่งคูปองทำหน้าที่อย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า "ตนเพิ่งเคยได้ยินคำนี้ขอโทษจริง ๆตนยังทำการบ้านมาไม่พอ"

เมื่อถามว่า บ้านของเฟิร์สจ๊อบเปอร์คิดว่าจะสามารถทำได้เมื่อไหร่ นายวราวุธ ตอบว่า กำลังเร่งทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณ อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปี 2567 เพราะปริมาณคนจบใหม่ต้องการบ้านที่อยู่อาศัยซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้รู้สึกเหมือนเป็นคฤหาสน์ของตัวเอง สร้างความมั่นคงทางจิตใจให้ด้วย

"ส่วนปี 2579 ที่จะให้ประชาชนมีที่พักอาศัยครบทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน ประเทศไทยมีพื้นที่จำกัดแต่ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปีถ้าทุกคนมีบ้านในที่ของตัวเองอีก 40-50 ปีถามว่าคนไทยจะอยู่ตรงไหนเพราะโดนซื้อไปหมดแล้ว บางคนมีบ้านก็ไปจำนอง เสร็จนายทุนหมด บางครั้งก็เห็นใจนายทุนเพราะนายทุนก็นั่งอยู่เฉยๆแต่มีประชาชนเอาที่ดินไปจำนอง ฉะนั้นบ้านในอนาคตอาจเป็นลิสต์โฮมไม่ใช่ฟรีโฮม"

เมื่อถามว่า กองทุนเงินออมเพื่อที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดี คนไทยมีอัตราการออมต่ำมาก เราอยากให้มีกองทุนเงินออมเพื่อที่พักอาศัยจะเป็นประโยชน์มาก ต้องขอบคุณที่มีความคิดนี้ และไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ เดี๋ยวตนจะไปพูดกับผู้ใหญ่หลายคนว่าเราทำกันดีไหม




กำลังโหลดความคิดเห็น