xs
xsm
sm
md
lg

กสศ.จุดประกาย "ทักษะอาชีพเสริม" เยาวชนแรงงานสู้ชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสศ.จัดกิจกรรมจุดประกาย "ทักษะอาชีพเสริม" เส้นทางสู่นักธุรกิจชุมชนแก่เยาวชนแรงงานสู้ชีวิต เพิ่มรายได้ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือ ต่อยอดเป็น “อาชีพหลัก” ในอนาคต "สหภาพแรงงาน" อาสาเจรจาผู้ประกอบการโรงงาน "ไฮเออร์" เปิดพื้นที่ “โรงอาหารโรงงาน” เป็นแหล่งหารายได้เสริมนำสินค้าและผลิตภัณฑ์จากฝีมือเยาวชนแรงงานไปจัดจำหน่าย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 สนับสนุนโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดปรจีนบุรี ประสานภาคีเครือข่าย "สหภาพแรงงานปราจีนบุรี" จัดกิจกรรมจุดประกาย "ทักษะอาชีพเสริม" ระหว่างทำงานประจำในโรงงานหรือต่อยอดอาชีพอิสระที่เยาวชนแรงงาน อายุระหว่าง 15 - 24 ปี ประกอบอาชีพอยู่แล้วในชุมชนโดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่ต้องการมีรายได้เพิ่มและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อเตรียมความพร้อมปัญหาเศรษฐกิจเปราะบางและการจ้างงานในอนาคตที่อาจสุ่มเสี่ยงตกงาน


สำหรับกิจกรรมโครงการ กสศ.ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 ณ สำนักงานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจ อาทิ น.ส.กฤษฏา นานช้า ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ มาให้เกร็ดความรู้เรื่อง เส้นทางสู่ "นักธุรกิจชุมชน" วิธีคิดคำนวณต้นทุน กำไร ค่าแรง หรือ ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และ ออฟไลน์ ทำอย่างไรให้สมหวัง พร้อมแนะนำเทคนิคและสาธิตการเริ่มต้นประกอบอาชีพเสริมเครื่องดื่ม อาหารและเบเกอรี่ที่เป็นเมนูง่าย ๆ เช่น พุดดิ้งนมสด กับ คุกกี้ธัญพืช เป็นเมนูของว่างที่ลงทุนต่ำแต่กำไรสูงเหมาะแก่การเริ่มต้นประกอบเป็นอาชีพเสริม และ นายไกรมิตร พงษ์นิยะกูล มาให้ความรู้เรื่อง เทคนิคการขายของออนไลน์ และ ทักษะการใช้โซเซียลมิเดียเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมผ่าน "ติ๊กต็อก" ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

น.ส.จุฑามาศ สมบูรณ์ เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ทำงานอยู่ในโรงงาน กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องการมี “ทักษะอาชีพเสริม” เพราะรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาทต่อวันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ขณะเดียวกันรายได้จากการทำงานล่วงเวลา หรือ โอที ไม่มีความแน่นอน จึงอยากมี "อาชีพเสริม" เพิ่มรายได้มาประคับประคองเศรษฐกิจครอบครัว ซึ่งทักษะอาชีพที่ตัวเองสนใจ คือ เครื่องดื่มอาหารและเบเกอรี่ จึงใช้เฟสบุ๊คส่วนตัวเป็นร้านค้าเล็ก ๆ ขายชากาแฟทางออนไลน์ รับออเดอร์จากเพื่อนที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน พร้อมกับรับออเดอร์จากคนรู้จักในชุมชน หลังเลิกงาน 17.00 น. หรือ ในช่วงวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดจากการทำงาน


สำหรับรายได้เฉลี่ยขายได้วันละ 8 - 10 แก้ว หรือคิดเป็นเงินประมาณ 300 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้วจะได้กำไรเฉลี่ยวันละ 50 บาท ซึ่งผลกำไรตัวนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.นำมาเป็นค่าอาหารมื้อเย็นของตัวเองช่วยลดรายจ่ายรายวัน หรือ 2.นำไปสะสมเป็นเงินเก็บไว้เป็นเงินลุงทุนทำธุรกิจส่วนตัวตั้งเป้าหมาย 2 - 3 แสนบาท จะเปิดร้านกาแฟและเบเกอรี่เล็ก ๆ เพราะอยากเป็นเจ้านายตัวเอง หากวันหนึ่งต้องถูกเลิกจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในอนาคต

นายภิเศรษฐ์ ป้องคำศรี กรรมการสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเตรียมยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ประกอบการโรงงาน "ไฮเออร์" อนุญาตเปิดพื้นที่ "ล็อคขายของ" ในโรงอาหารโรงงานเพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของน้อง ๆ ที่มีอาชีพเสริม อาทิ ขายเครื่องดื่มชากาแฟ , แซนวิช , ข้ามหลาม , กล้วยฉาบ ได้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ฝีมือของตัวเองมาจัดจำหน่ายเพิ่มรายได้เสริมระหว่างทำงานประจำในโรงงาน


นายปัญญา ตลุกไธสง ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจ้างงานในอนาคตเริ่มมีความเสี่ยงสูง เพราะผู้ประกอบการบางแห่งเริ่มใช้เครื่องจักร หรือ ระบบ Automation ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ดังนั้นการมีทักษะอาชีพเสริม เช่น การจำหน่ายสินค้าและผลิตที่ตัวเองผลิตให้กับร้านค้าในโรงอาหารโรงงาน สามารถช่วยให้น้อง ๆ ได้มีรายได้เพิ่มระหว่างที่ไม่มีค่าล่วงเวลา หรือ โอที นับเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

น.ส.วิไลพร แก่นปรั่ง ประธานสหภาพแรงงานอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนให้น้อง ๆ เยาวชนแรงงานที่มี “ทักษะอาชีพเสริม” ทั้งในกลุ่มที่มีอาชีพเสริมอยู่แล้ว หรือ จุดประกายทางความคิดที่จะมีอาชีพเสริม อยากให้ตั้งใจใฝ่เรียนรู้ ด้วยการรู้จักหาวิธีใหม่ ๆ ในการหารายได้เสริมนอกเหนือจากการทำงานประจำในโรงงาน เพราะในอนาคตอาจกลายเป็น “อาชีพหลัก” รองรับหากต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากการว่างงาน


















กำลังโหลดความคิดเห็น