"ส.ว.วันชัย" เผย วงหารือ อนุฯประชามติ แนะอย่าตีกรอบคำถาม หวั่นรัฐบาลทำงานลำบาก ระบุให้เปิดช่อง ส.ส.ร.มาหลากหลาย ไม่ติดใจไทม์ไลน์ยื่นแก้รธน.ครั้งแรกหลังทำประชามติ รอ ส.ว.ปัจจุบันพ้นวาระ
วันนี้ (30ต.ค.) นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะ ประธานคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ใหสัมภาษณ์ภายหลังการหรือร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น ในกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีนายนายนิกร จำนง เป็นประธานอนุกรรมการฯ ว่า ในการหารืออนุกรรมการฯ ไม่ได้นำร่างคำถามประชามติให้ กมธ.พิจารณามีเพียงการปรึกษาหารือร่วมกัน และการให้ข้อสังเกตของสว.ที่ร่วมประชุม โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน กมธ.ให้ความเห็นว่าการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่ลักษณะคำถามต้องไม่ผูกมัด ที่ทำให้การทำงานของรัฐบาลขาดความยืดหยุ่น เช่น ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ไม่ต้องกำหนดว่าต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะในกระบวนการต้องมีความหลากหลาย ทั้งนี้ในการทำประชามติ จนถึงการเลือก ส.ส.ร. ต้องพิจารณาให้รอบคอบและควรใช้ระยะเวลาสั้น ขณะเดียวกันในประเด็นที่อาจมีประเด็นปัญหาในระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญ ตามกติการัฐบาลสามารถสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นปัญหาและมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ในการหารือดังกล่าวนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน และ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. และกมธ. ตั้งคำถามด้วยว่าในการทำประชามตินั้นต้องไม่ทำให้ขัดกับรัฐธรรมนูญและมองว่าควรยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ขณะที่ตนให้ความเห็นด้วยว่าการแก้รัฐธรรมนูญอย่ายึดว่าเป็นไปตามการหาเสียงของพรรคการเมือง แต่ควรยอมรับความจริงเหมือนอย่างที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เคยระบุว่าต้องอยู่กับความจริง หากพรรคการเมืองเห็นว่ามีประเด็นใดที่เป็นปัญหาควรแก้เป็นรายมาตรา เพื่อให้ประหยัดและมีความรวดเร็ว
“ผมไม่ได้ขวางการแก้รัฐธรรมนูญ แต่อยากให้อนุกรรมการฯ รับข้อคิดไปพิจารณาว่า การทำประชามติต้องคำนึงในหลัก และหากจะเดินหน้าทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ต้องบอประชาชนด้วยว่าจะแก้ไขอะไร ทั้งนี้นายนิกร ตอบกลับมมาว่า เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชนดังนั้นต้องทำตามที่รับปากไว้กับประชาชน ดังนั้นต้องทำ และเพื่อให้ได้รับฉันทามติจากประชาชน อย่างไรก็ดีสว.ปัจจุบันไม่ได้ค้านแก้รัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐบาลส่งร่างแก้ไขมาทันก่อนหมดวาระ สว.พร้อมโหวตให้” นายวันชัย กล่าวว่า
เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จนถึงการส่งร่างแก้ไขมาตรา 256 ให้รัฐสภาพิจารณา นายวันชัย กล่าวว่าไม่ทันกับ สว.ชุดปัจจุบันนี้แน่นอน เพราะจะหมดวาระในเดือนพ.ค.67 นี้ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาหลังการทำประชามติ จะเป็นหน้าที่ของสว.ชุดใหม่ 100% อย่างไรก็ดีสว.ไม่ติดใจ เพราะมองว่าเป็นไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่ สว.ชุดใหม่ที่จะทำหน้าที่มาจากการเลือกกันเองใน 3 ระดับ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นฐานเดียวกับพรรคการเมือง นายวันชัย กล่าวว่า ไม่กังวล หรือมีอะไรน่ากลัว เพราะต่อให้รัฐบาลเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญทันชุดปัจจุบัน สว.พร้อมโหวตให้
เมื่อถามถึงสเปค ส.ส.ร. นายวันชัย กล่าวว่าในการหารือดังกล่าวไม่มีประเด็นข้อเสนอ เพราะอนุกรรมการฯ ทำเฉพาะเรื่องประชามติ อย่างไรก็ดีจากการศึกกษามองว่าหากส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้ 77 คนจาก 77 จังหวัด ซึ่งองค์ประกอบควรมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการร่วมด้วย ไม่ควรมองว่าให้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะเดียวกันหากประเด็น ส.ส.ร.มีรายละเอียด คณะทำงานติดตามจะพิจารณาและเสนอความเห็นต่อไป.