วันนี้(29 ต.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 5 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ชั้น5โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 5 มิติ ที่สังคมเมืองศิวิไลซ์อยากเห็น” โดยภายในงานสัมมนา ได้มีการออกบูธจากหน่วยงานและบริษัทต่างๆ เพื่อมาแสดงนวัตกรรมให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและผู้สนใจ ได้มาสัมผัสและเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของประเทศไทย เช่น นวัตกรรมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การแสดงนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ เทคโนโลยี “alpinefilte” Electrostatic Field Media Filter ระบบ สร้างอากาศบริสุทธิ์ ที่มีคุณสมบัติเด่นที่สามารถจับอนุมูลได้ระดับนาโนเมตร และยังสามารถตัดตอนพันธุกรรมหรือหยุดยั้งระบบอาหารแบบห่วงโซ่ของเชื้อโรคทุกชนิด นวัตกรรมยายับยั้งไวรัสไข้เลือดออกสำเร็จเป็นรายแรกของโลก ที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้คิดค้นและพัฒนา NAD+ หรือ Nicotinamide adenine dinucleotide ซึ่งเป็นนวัตกรรมต่อต้านวัยชราและการสร้างเซลล์ใหม่ให้แข็งแรง อุปกรณ์ สายรัดห้ามเลือดชนิดกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automatic Tourniquet) จากมหาวิทยาลัยสยาม เครื่อง Heat Stroke Protection System และ เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวเบื้องต้น จากโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นต้น นวัตกรรม “AUTOMATIC FIRE FIGHTING BALL” หรือ ลูกบอลดับเพลิงอัตโนมัติ ของ บริษัท อิไลด์ไฟร์บอล โปร จำกัด เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือ AI “อาษาเฟรมเวิร์ค”รองรับการก้าวเข้าสู่ยุค 5G สามารถเชื่อมโยงไทยและโลก รวมทั้ง นวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ เตรียมใช้ VR ที่จำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง ซึ่งในแต่ละบูธที่มาจัดแสดงนั้น ก็มีผู้ร่วมงานสัมมนาฯ เข้าไปสอบถามถึงผลงานนวัตกรรมและร่วมสนุกกันเป็นจำนวนมาก
โดยนายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันนั้น มีความรุนแรงในการแข่งขันกันมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบการค้าเข้าสู่ความเป็นเสรีและตลาดทั่วโลกเปิดกว้างถึงกันทั้งในตลาดแบบเดิม และตลาดอีคอมเมิร์ซ จึงทำให้ “นวัตกรรม” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ” ทั้งนี้ แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับหลังๆ จะเร่งรัดผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการผลิตสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย “นวัตกรรม” และมุ่งสู่การ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่เน้นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้า และบริการเชิงคุณภาพ พร้อมกับให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยเร่งต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบ ประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีในการยกระดับผลิตภาพในภาพรวมให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อยอดจาก องค์ความรู้เดิมเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน พร้อมไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้ากับทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ผลักดันให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่สร้าง มูลค่าเพิ่มสูง
นายภณวัชร์นันท์ (พะ-นะ-วัด- นัน) กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมนวัตกรรมของประเทศไทย คือ ปัญหาในเรื่องของมาตรฐานสินค้า จากกระบวนการเข้าสู่การตรวจสอบและรับรองเพื่อให้ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ยังมีความไม่เข้าใจระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สินค้านวัตกรรมหลายรายการยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและรับรองเพื่อให้ได้รับเครื่องหมาย มอก.ได้ ซึ่งสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้จัดสัมมนาเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนัก และให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้สินค้านวัตกรรมไทยทุกรายการเข้าสู่มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการแข่งขัน ซึ่งเป็นภารกิจที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนด้านมาตรฐาน สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนวัตกรรมในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักการสากล ต้องทำให้การผลิต หรือผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานที่เป็นสากล ต้องใส่ใจกับสภาพแวดล้อม คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน มีกระบวนการที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และเปิดกว้างในทุกระดับ
“เรื่องนี้สมาคมมองว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อน และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ด้วยการเป็น “พาร์ทเนอร์” หรือ “หุ้นส่วนความยั่งยืน” ร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคม มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายของประเทศไทย หากเราจะมุ่งเน้นการก้าวสู่ความยั่งยืน โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และสอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างไร สมาคมจึงต้องจัดเวทีสัมมนาเพื่อพูดคุยกันในประเด็นนี้” นายภณวัชร์นันท์
(พะ-นะ-วัด- นัน) กล่าว
ทางด้าน นายอลงกรณ์ ได้กล่าวเปิดงานว่า ทางสมาคมฯ ได้ร่วมแรงร่วมพลังคนหนุ่มสาว ผู้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ มาร่วมกันผลักดันงานนวัตกรรมภายในประเทศ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่สำคัญในด้านนวัตกรรม เกิดขึ้นเมื่อหลายกว่าปีมาแล้ว ก็คือ
การเปลี่ยนแปลงจากเครื่องมือสื่อสาร ทำให้คนทั่วโลกได้พัฒนานวัตกรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวาง จะเห็นได้ว่า มีผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมาก ได้คิดค้นนวัตกรรมมากมาย อย่างไรก็ตาม การที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ จะต้องมีหัวคิดในเชิงผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยจะต้องมีมาตรฐานควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในฐานะที่ตนทำงานอยู่กับประชาชนมาอย่างยาวนาน ตนจึงอยากให้รัฐบาลปัจจุบัน ให้สนับสนุนนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย โดยอาจจะสานต่อในสิ่งที่เคยทำมาแล้วก็คือ การให้ภาครัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามรายชื่อบัญชีนวัตกรรมไทย และเผยแพร่ความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด
จากนั้น นายภณวัชร์นันท์
(พะ-นะ-วัด- นัน) ไกรมาตย์ สมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้การผลิตสินค้าคำนึงถึง คุณภาพ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชนเนื่องจากปัจจุบันเราประสบกับปัญหาการหลอกลวง สินค้าไม่ตรงปก ซึ่งถูกปล่อยปละละเลยมานาน จึงอยากให้เราคำนึงถึงปัญหานี้รวมถึงต้องการเพิ่มศักยภาพคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้เอสเอ็มอีสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ทั้งประเทศในสหภาพยุโรปตะวันออกกลางและในอาเซียน
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สร้างนวัตกรรมเพื่อศักยภาพในการส่งออกและแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานในระดับโลก ก็จะทำให้สินค้าไทยไม่ถูกกีดกันทางการค้าจากนานาประเทศ และเป็นไปตาม มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมระดับโลก ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ ในแง่ของผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ถึงมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยสังเกตสัญลักษณ์ มอก. ป้องกันการถูกหลอกลวงจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงปก เพราะการที่จะได้รับตรามาตรฐาน มอก. นั้น ผู้ผลิตต้องได้รับการทดสอบและผลิตสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งถือเป็นการรับรองถึงมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
สำหรับผลต่อเนื่องของการจัดงานในครั้งนี้ ต้องการให้เกิด การสร้างการรับรู้กับประชาชน และความตื่นตัวในการใช้สินค้าที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย ไม่ให้ถูกหลอกลวง รวมถึงส่งเสริมให้ เอสเอ็มอีได้ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในท้องถิ่นที่ต้องการเข้าร่วมงานกับรัฐเพราะมาตรฐาน มอก. เป็นสิ่งที่อยู่ในข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้สามารถทำมาค้าขายได้ นอกจากนี้ จะมีการนำผลงานนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในวันนี้ไปต่อยอดซึ่งก็มีผลงานในหลายด้านทั้งเรื่องของสุขภาพและอาหาร เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นภายใต้สินค้าที่มีคุณภาพ
สำหรับบรรยากาศภายในงานมีบูธกิจกรรมจาก นักเรียน นักศึกษา และบริษัทเอกชนร่วมจัดแสดงโชว์เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย ซึ่งมีจำนวนกว่า 10 นวัตกรรม เช่น ผลงานจากบูธของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 ของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ได้นำเครื่องตรวจจับวัดความอันตรายของฮีทสโตรกมาจัดแสดง โดยเครื่องนี้จะใช้วัดอุณหภูมิความชื่น และค่าฝุ่น pm2.5 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดฮีทสโตรก โดยการทำงานของเครื่องจะใช้วิธีวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์และนำค่าที่วัดได้มาคำนวณผ่านตาราง ซึ่งหากมีความเสี่ยงเกิดฮีทสโตรกมากเลเวลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญนวัตกรรมนี้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการเพิ่มเพื่อนในไลน์ เมื่อจุดไหนมีความเสี่ยงก็จะมีข้อความแจ้งเตือนให้กับประชาชน สำหรับเครื่องนี้จะถูกนำไปติดในสถานที่เสี่ยงต่างๆ เช่น ตลาดสดและสถานที่แออัด หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น อีกทั้งภายในงานยังมีหุ่นยนต์ระบบ AI อนาคต และความรู้ทางวิชาการ และยังมีพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่นวัตกรรมที่เข้าร่วมจัดแสดงภายในงานอีกด้วย
ส่วนในเวทีสัมมนา ฯ ก็ได้วิทยากรชั้นนำที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมด้วยมุมมองที่หลากหลาย ได้แก่ พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ดร.ประสงค์ ธัมมะปาละ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายบรรจง สุขกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายโสภณ พงษ์โสภณ กรรมการบริหารและผู้จัดการสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานฯ ในพระราชูปถัมภ์ฯ และนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ด้านสิ่งแวดล้อม) โดยวิทยากรทั้งหมดได้มีความเห็นร่วมกันที่ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาวงการนวัตกรรมไทยให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้ง ต้องการให้สื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมของคนไทยให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เพราะทุกวันนี้ ผลงานนวัตกรรมของไทย มีชื่อเสียงในต่างประเทศ แต่กลับไม่เป็นที่รับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ จึงจำเป็นที่ต้องให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ ในการให้คนไทยรับรู้และสร้างความเข้าใจแต่นวัตกรรมของไทย ที่เริ่มมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น