คกก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ยกระดับนโยบาย 30 บาท บัตรปชช.ใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน อำนวยความสะดวกปชช.ให้ได้รับการบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ
วันนี้ (24 ตุลาคม 2566) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนจากทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ภายหลังการประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการฯ กล่าวว่า การยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การได้รับบริการสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดการเจ็บป่วย การวินิจฉัยโรค เพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และการฟื้นฟูสุขภาพภายหลังการรักษาโรคเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยนโยบายดังกล่าวจะครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2531 -2560 หลังจากการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีจำนวนลดลง เห็นได้ชัดตั้งแต่ 250,000 ครัวเรือน ในปี 2531 เหลือเพียง 52,000 ครัวเรือน ในปี 2562 ความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 -2565 อยู่ที่ร้อยละ 99.6 จากการที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชาชนมากกว่าประเทศ OECD ร้อยละ 98 ดังนั้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเราต้องไม่หยุดพัฒนา เพื่อร่วมกันสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด สำหรับคนไทย พร้อมทั้ง ยกระดับนโยบายดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายนี้มีความครอบคลุมระบบโครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทยประชาชนสามารถเข้าถึงในทุก ๆ มิติ
ทางด้าน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศให้แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ โดยจะปรับระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อยอดเศรษฐกิจไทย เติมเต็มบริการสุขภาพเพื่อประชาชน ยกระดับการดูแลสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ ปัญญา สังคม เชื่อมกันทุกมิติ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟู ด้วยนโยบาย 30 บาทเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ
รัฐมนตรีว่าการการะทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ แบ่งเป็น 4 ระบบ ดังนี้ 1) การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล 2) การพัฒนาระบบยืนยันตัวตน 3) การพัฒนาระบบ MOPH Data Hub 4) การพัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชนทางแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ สำหรับโครงการนี้จะนำร่องนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะเปิดให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนใบเดียว เข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกเครือข่าย และทุกสังกัด ไม่จำกัดเฉพาะสังกัด สธ. ขณะนี้ได้คัดเลือก 4 จังหวัดที่จะนำร่อง ประกอบด้วย 1. จ.แพร่ (เขตสุขภาพที่ 1) 2. จ.เพชรบุรี (เขตสุขภาพที่ 5) 3. จ.ร้อยเอ็ด (เขตสุขภาพที่ 7) และ 4. จ.นราธิวาส (เขตสุขภาพที่ 12) ที่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกเครือข่าย ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และแล็บที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณ และจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น โดยจะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายชดเชยใน 3 วัน และผู้ป่วยในจ่ายชดเชยทุก 7-14 วัน รวมถึงจะมีการเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยนัดหมายบริการ ยืนยันตัวตน การไปรับยาใกล้บ้าน เป็นต้น โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ หรือคนพิการ เข้าร่วมบริการประชาชน พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ปี 2567
นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการรับฟังจากทุกภาคส่วนว่า การขับเคลื่อนทั้ง 5 นโยบายเร่งด่วนนี้ และนโยบายอื่น ๆ ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่เป็นชุดขับเคลื่อนติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานฯ และให้มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรงประเทศชาติมั่นคงนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ข้อเสนอแนะ ในนามของรัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสาธารณสุขของประเทศไทยยกระดับการบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบสาธารณสุขให้เหมาะสมกับประชาชนคนไทยทุกคนให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม