สภาจัดประชาพิจารณ์เล็งปลดล็อก “นกกรงหัวจุก” ออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง อ้างเปิดทางช่วยชาวบ้านสร้างรายได้ พ้นกฎหมายล้าหลัง ด้านมูลนิธิสืบฯ รอค้านสุดลิ่ม
เมื่อเวลา 09.40 น.วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ประธานที่ประชุม โดยในช่วงของการหารือเกี่ยวกับความเดือดร้อนขอประชาชน นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา จ.สงขลา ได้มีการทำประชาพิจารณ์ เรื่อง ปลดล็อกนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง นำโดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ร่วมกับ ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมา ไม่สามารถเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกเองได้ ต้องจับมาจากในป่า แต่ทุกวันนี้คนไทยสามารถเพาะพันธุ์นกเองได้ มีเลี้ยงทั่ว และมีเป็นสินค้าส่งออกทำรายได้ให้ประเทศหลักพันล้านบาทต่อปี
นายศาสตรา กล่าวต่อว่า วันนี้ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกมารวมตัวกันที่รัฐสภา เนื่องจากถูกกดขี่โดยกฎหมายล้าหลัง จะจดทะเบียนนกต้องมีที่ดิน ซึ่งทำให้ตัดกลุ่มผู้เลี้ยงไปได้มากแล้ว และยังมีการกำหนดให้พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นช่องโหว่ของกฎหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐหาผลประโยชน์ โดยในวันนี้จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการปลดล็อกนกกรงหัวจุก ที่อาคารรัฐสภา ชั้น B1 เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี เพื่อช่วยชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ที่รัฐสภา มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของนกปรอดหัวโขน ตามดำริของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน โดยมีทั้งนักวิชาการ คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และประชาชนผู้เลี้ยงนก
ในวันเดียวกัน ตัวแทนจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร จะเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ประธานกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) รวมถึงยื่นต่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ด้วย
ก่อนหน้านี้ นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่กำหนดความหมายของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ว่า “สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลต่อระบบนิเวศ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้”