นายกฯ ขอโทษไม่รู้ปัญหาน้ำประปา หลังตรวจโรงผลิตน้ำประปาพิษณุโลก กร้าวไม่เห็นด้วยกับคนค้านแจกดิจิทัลวอลเล็ต อ้อนขอกำลังใจอย่าให้คนยับยั้งโครงการได้ “เกรียง” บอกต้องทำให้เป็นประปาดื่มได้
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 ต.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และคณะเดินทางต่อมายังโรงผลิตน้ำประปา ที่เทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก เพื่อพูดคุยปัญหาน้ำประปากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประชาชนมารอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ทั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า การบริหารจัดการน้ำมี 4 ส่วน คือ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ และเรื่องอุปโภคบริโภค จ.พิษณุโลก เป็นจังหวัดแรกที่ตนเดินทางมาแล้วมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องการเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำที่สร้างมา 80 กว่าปี มีการรั่วซึม จ.พิษณุโลก ที่เป็นเมืองรอง แต่วันนี้จะเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน เมื่อกลับไปจะคุยกับ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ตนเพิ่งทราบปัญหานี้ ตอนที่เคยมาช่วงเลือกตั้ง ถ้าทราบจะเตรียมทางแก้ปัญหาไว้ แต่ถึงอย่างไรช้าดีกว่าไม่ทำ ขอกราบขอโทษด้วยแล้วกัน
อย่างไรก็ตาม ส.ส.เพื่อไทย ที่นี้ให้ความเป็นห่วงประชาชน สิ่งที่คนในหลายจังหวัดถือเป็นของตาย คือ น้ำอุปโภคบริโภค แต่ จ.พิษณุโลก ที่เป็นจังหวัดใหญ่ มีปัญหาก็กราบขอโทษ ในนามรัฐบาลจะนำมาพัฒนาและทำให้ดี ในระยะสั้นก่อน ระยะยาวก็ค่อยแก้กันไป ไม่เช่นนั้น เมืองรองที่มีคุณค่าอย่าง จ.พิษณุโลก จะไม่มีโอกาสเติบโตตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจของชาติได้
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ กล่าวว่า ที่นายกฯบอกว่าไม่ทราบมาก่อน ถือเป็นความผิดของตน ผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่บอกตนมาตลอด แต่เมื่อไม่ได้เป็นผู้แทนเลยไม่ได้นำเรียนต่อวันนี้จึงต้องขอโทษ
ขณะที่ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า เจตนาของเทศบาลนครพิษณุโลก ต้องการจำหน่ายน้ำประปาเอง หรือโอนมอบไปให้การประปาภูมิภาค ตนมองว่า ไหนๆ จะทำสักที อยากให้ ส.ส.ในพื้นที่ทำประชาคมดูว่า จะให้ไปอยู่ประปาส่วนภูมิภาคหรือจะทำเอง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร อยากให้สส.ประสานกับทางเทศบาล ทำให้เป็นประปาดื่มได้เลย
จากนั้น นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม เรื่องการท่องเที่ยว การพัฒนาสนามบินอยู่ในแผนของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะบอกวันนี้ คือ ที่ผ่านมา รัฐบาลลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดีหรือไม่ ทำไมไม่มีใครบอก จำได้มั้ยน้ำมันดีเซลลงไปเท่าไหร่เหลือ 29 กว่าๆ ส่วนเงินดิจิทัลวอลเล็ตอยากได้หรือไม่ตนไม่แน่ใจ เรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลตระหนักดี สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต อยากอธิบายให้ฟังว่า สมมติวันที่ 1 ก.พ. 67 คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปได้คนละหมื่นบาท บ้านไหนมีสามคนห้าคนเอาไปตั้งตัวได้เลย คิดดูว่ามีประโยชน์มากแค่ไหน และเงินที่ได้ไปใช้ใน กทม.ไม่ได้ ต้องใช้ในเขตที่ท่านอยู่ จะช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว ซึ่งมีหลายท่านไม่เห็นด้วย แต่ตนก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่เรารับฟังความคิดเห็น เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน รับฟังแล้วปรับให้ดีให้เป็นนโยบายที่โดนใจทุกคน คิดดูวันที่ 1 ก.พ. มีเงิน 5.6 แสนล้าน เข้าไปในระบบ ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะเตรียมสินค้าออกมารองรับหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มหรือไม่ เงินจะอยู่ในกระเป๋าประชาชนมากขึ้นแค่ไหนอย่างไร
“ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง เรื่องลดค่าไฟค่าน้ำมันต้องพูด อย่างภาคอุตสาหกรรมที่ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ท่านต้องออกมาพูดว่า ท่านมีความสุข ดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็เป็นคนเหมือนกัน ต้องการขวัญและกำลังใจเหมือนกัน บางคนที่มาด้วยกันวันนี้ก็อยากอยู่บ้าน แต่วันนี้เข้าใจปัญหาประชาชนก็มารับฟังปัญหา เราไม่ได้มาหาเสียงแต่เรามาทำงานจริง” นายเศรษฐา กล่าว
ต่อมาเมื่อเวลา 14.45น. ที่ จ.พิษณุโลก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการตอบรับดิจิทัลวอลเล็ตของประชาชนว่า ทุกเสียงของประชาชนถือว่าเป็นเสียงที่เราต้องฟังรวมถึงเสียงของผู้ที่คัดค้านด้วย เสียงแนะนำว่าควรจะปรับปรุงอย่างไรให้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดกับประชาชนก็อยากจะฟังเสียงทุกๆเสียง ไม่ใช่ว่าจะไม่ฟังใครหรือไม่น้อมรับคำเตือน
เมื่อถามว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานจนถึงวันนี้ มองภาพรวมการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐากล่าวว่า หากให้มองตัวเอง แล้วบอกว่าตนเองทำงานเป็นอย่างไรบ้างคงไม่เหมาะสมให้ประชาชนเป็นคนตัดสินดีกว่า ตนก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะเราทำงานหนักทำงานทุกวันเสาร์-อาทิตย์ รัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และพยายามที่จะหาทางออกระยะสั้นให้กับประชาชน เรื่องค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล เกษตรกรที่เดือดร้อนเราก็มีการพักหนี้ และจะมีนโยบายเข็นออกมาอีกเรื่อยๆ