เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าล่าสุดก่อนเที่ยงวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา จะมีคนไทยชุดแรก จำนวน 15 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือและประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงาน และ กระทรวงสาธารณสุข และอีกจำนวน 26 คน ที่ซื้อตั๋วโดยสารเอง รวม 41 คน สามารถเดินทางโดยสารการบินพาณิชย์มาถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัยแล้ว หลังจากก่อนหน้านั้น มีคนไทย หรือแรงงานไทย 1 คน ที่เดินทางออกมาจากประเทศอิสราเอล ด้วยสายการบินพาณิชย์ กลับบ้านเช่นเดียวกัน ทำให้มีคนไทยกลับมาแล้วจำนวนรวม 42 คน ถือว่าเป็นชุดแรกๆ
ขณะเดียวกัน ยังถือว่ามีจำนวนเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัย จำนวนราว 5 พันคน ในพื้นที่ทางภาคใต้ ที่เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างอิสราเอล กับฉนวนกาซา ซึ่งยังเป็นพื้นที่อันตราย จากจำนวนแรงงานไทย ที่ไปทำงานที่นั่นทั้งหมดตามตัวเลขประมาณเกือบ 3 หมื่นคน และแรงงานที่เหลือจากจำนวน 5 พันคนดังกล่าว ก็เริ่มเสี่ยงภัยขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล ติดกับภาคใต้ของเลบานอน ที่เป็นเขตอิทธิพลของ “กลุ่มเอสบุลเลาะห์” กลุ่มติดอาวุธในแถบนั้น และกำลังมีการสู้รบระหว่างกันทวีความรุนแรง และมีความสูญเสียเพิ่มเติมอีก
ล่าสุด เมื่อเช้าวันที่ 12 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยก่อนออกเดินทางจากมาเลเซีย ไปเยือนสิงคโปร์ ว่า ได้รับรายงานมีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 1 ราย รวมเป็น 21 ราย พร้อมทั้งย้ำว่า มีความพยายามที่จะหาช่องทางอื่นในการช่วยอพยพคนไทยออกจากพื้นที่ แต่เส้นทางทางเรือต้องผ่านกาซา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่อันตราย จึงไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้ ส่วนอีกเส้นทางอาจเป็นทางรถยนต์ และผ่านทางจอร์แดน แทน ยืนยันรัฐบาลพยายามดูแลคนไทยเต็มที่ โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือคนไทยให้รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด
ก่อนหน้านั้น เขายอมรับว่า สถานการณ์แย่ลง และเลวร้ายลงไป มีจรวดยิงกันตลอดเวลา ทั้งนี้ เครื่องบินของไทยที่จะออกในวันที่ 12 ต.ค. รับคนไทย 15 คนนั้น ก็ยังไม่พร้อม เนื่องจากอีก 11 คน กำลังเดินเข้ามาที่สถานทูต ซึ่งขณะนี้มีแค่ 4 คน และได้รับบาดเจ็บ แต่อยู่ในสถานทูตปลอดภัยแล้ว การจราจรในประเทศอิสราเอล ถนนก็ปิดหลายสาย ดังนั้น ทางเดียวที่สามารถเดินทางได้ต้องอาศัยรถทหาร โดย พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้ประสานกองทัพอิสราเอล เพื่อขอให้ช่วยใช้รถลำเลียงคนของเราเข้ามายังสถานทูต แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ขณะนี้สถานการณ์เลวร้ายลงไป ดังนั้น เราต้องคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะอพยพคน 5,000 คน ให้ได้ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด
ส่วนข้อมูลจาก นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ ระหว่างตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภา วันเดียวกัน ในประเด็นผลกระทบต่อแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ที่มีสถานการณ์สู้รบ ว่า สถานการณ์ล่าสุด พบว่า มีคนไทยที่เสียชีวิต รวม 21 คน ซึ่งเป็นรายงานจากนายจ้าง ไม่ใช่คำยืนยันอย่างเป็นทางการจากประเทศอิสราเอล ทั้งนี้ อิสราเอลขอเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ
“เมื่อคืนวันที่ 11 ต.ค. นายกฯสั่งการมาที่ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาช่องทางอพยพคนไทยออกมาจากพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งทางอากาศ น้ำ และทางบก แต่ภาวะสู้รบที่มีต่อเนื่องทำให้เป็นไปได้ยาก” นายจักรพงษ์ ชี้แจง
สำหรับคนไทยที่ถูกลักพาตัว หรือจับเป็นตัวประกัน มีทั้งสิ้น 16 คน โดยกระทรวงการต่างประเทศ ใช้ความพยายามเต็มที่สื่อสารไปยังกลุ่มฮามาส จับกุมคนไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แต่ปาเลสไตน์ไม่มีทูตประจำประเทศไทย ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานทูตต่างชาติที่ประจำในไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ รวมถึงกลไกอาเซียน เพื่อให้ปล่อยตัว รวมถึงองค์กรนานาชาติ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้ช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้ พบว่า มีคนไทย ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 5,000 คน จากคนไทยในอิสราเอล 30,000 คน
“กระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับหลายประเทศที่อยู่รอบด้านอิสราเอล แต่ขณะนี้พบว่าการเดินทางไปชายแดนประเทศต่างๆ มีความเสี่ยง แม้ทูตจะประสานอิสราเอลเพื่อขอรถในการเคลื่อนย้าย แต่พบความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์สู้รบ ยิงจรวดเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในพื้นที่เสี่ยงสูง อิสราเอลจะเป็นผู้ดำเนินการให้ออกมาจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย” นายจักรพงษ์ ชี้แจง
พิจารณาจากสถานการณ์ทั้งที่รายงานมาจากสื่อต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงรายงานชี้แจงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยทำให้เข้าใจว่ายังอยู่ในความ “ยากลำบาก” และมีความเสี่ยงตลอดเวลา ที่สำคัญ การช่วยเหลือคนไทยออกมานั้น ยังเป็นเรื่องยาก และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองฝ่ายยังสู้รบกันรุนแรงแบบไม่ลดราวาศอก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่อง“ตัวประกัน” ที่ตามรายงานบอกว่า มีจำนวน 16 คน เวลานี้ไม่รู้ชะตากรรม เพราะถูกนำตัวพร้อมกับชาวต่างชาติอีกนับร้อยไปยังฝั่งกาซา ซึ่งเป็นเขตอิทธพลของกลุ่มติดอาวุธ “ฮามาส” และล่าสุด ก็มีการข่มขู่มาจากกลุ่มฮามาสว่า หากอิสราเอลโจมตีโดยไม่แจ้งเตือนพลเรือนล่วงหน้า ก็จะสังหารตัวประกันทันที
จะเห็นว่า นี่คือ สถานการณ์ยุ่งยาก เนื่องจากพื้นที่อยู่ใน “ภาวะสงคราม” ทั้งสองฝ่ายกำลังต่อสู้กันอย่างเต็มที่ แม้ว่าอีกฝ่ายคือ อิสราเอล จะได้เปรียบในเรื่องของกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ ก็ตาม แต่การที่จะปราบปรามอีกฝ่ายได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้นก็ไม่ง่าย เนื่องจาก “ฮามาส” ก็มีมหาอำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายประเทศอาหรับหนุนหลังเช่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญก็คือในพื้นที่ยังมี “คนไทยเป็นตัวประกัน” มีความเสี่ยงสูงมาก
อีกทั้งไทยยังไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตโดยตรงกับฝ่ายปาเลสไตน์ สิ่งที่ทำได้ก็คือ ประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่เป็นมุสลิม เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมไปถึงมิตรประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน เป็นต้น และที่ไม่น่าลืมเป็นอันขาด ก็คือ “อิหร่าน” เพราะเรามีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดี ซึ่งอิหร่านนี่แหละ ที่สามารถเข้าถึง “ฮามาส” ได้แน่นอน
เพราะอย่างที่รับรู้กันว่า นอกเหนือจากการมีสัมพันธ์โดยอ้อมกับสถานทูตปาเลสไตน์ในมาเลเซียแล้ว ที่สำคัญก็คือ พวกเขาเป็นปาเลสไตน์กลุ่ม “ฟาตาห์” ที่บริหารในเขต “เวสต์แบงก์” ที่อิสราเอลกำลังยึดครองอยู่ เป็นคนละขั้วกันของปาเลสไตน์ เคยทำสงครามกลางเมืองกันมาแล้ว
ถึงได้บอกว่า สถานการณ์มันซับซ้อนยุ่งยาก โดยที่รัฐบาลไทยไม่สามารถช่วยเหลือ หรือประสานงานได้โดยตรง นอกเหนือจากฝ่ายอิสราเอล ซึ่งก็ต้องรอให้เขาอนุญาตให้เข้าไป ไม่ว่าจะนำคนไทยออกมาจากพื้นที่สู้รบ ซึ่งยังทำได้ยาก หรือแม้กระทั่งนำเครื่องบินไปรับก็ต้องบินผ่านน่านฟ้า และเวลานี้ก็มีบางประเทศไม่อนุญาตให้เครื่องบินทหารบินผ่าน ดังนั้น สิ่งที่น่าจะทำได้ก็คือการโดยสารมากับเครื่องบินพาณิชย์ หรือเช่าเหมาลำ
ดังนั้น นอกจากภาวนาเอาใจช่วยให้พี่น้องคนไทยปลอดภัยมากที่สุดและสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงรายงานข่าวที่ว่ามีคนไทยเสียชีวิตถึง 21 คนนั้น เป็นรายงานที่คลาดเคลื่อน ยังไม่ยืนยันเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ยังต้องส่งกำลังใจไปยังรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคน ที่ทำงานอย่างหนักอยู่ในเวลานี้ แต่อีกด้านหนึ่งงานนี้มันก็เป็นการพิสูจน์ฝีมือทางการทูตว่า “มือถึง” แค่ไหน เพราะมันเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน ที่ต้องใช้ทั้ง “ใต้ดิน” และ “บนดิน” มาประกอบกัน!!