xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.มั่นคงฯ เชิญ 4 หน่วยงานแจงปัญหา ถาม กอ.รมน.จำเป็นต้องมีหรือไม่ รับคำตอบมีผลงานแต่ไร้พีอาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โตโต้” แถลง กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญ 4 หน่วยงานด้านความมั่นคง แจงปัญหาชายแดน-ภัยสงคราม-ยาเสพติด-ค้ามนุษย์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จี้ถามจำเป็นต้องมี “กอ.รมน.” หรือไม่ ด้านตัวแทนแจงมีผลงานกับหน่วยงานอื่น แต่ไม่ถูกประชาสัมพันธ์

วันนี้ (12 ต.ค.) นายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม ว่า กมธ.ได้เชิญหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลด้านความมั่นคงทั้ง 4 หน่วย ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เข้าชี้แจงแผนการจัดการด้านการจัดการมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชายแดน ผลกระทบจากภัยสงความในประเทศเพื่อนบ้าน การค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน การค้ามนุษย์ และการตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนเพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้สอบถามถึงความจำเป็นว่าประเทศไทยควรที่จะยังคง กอ.รมน. ไว้หรือไม่ เนื่องจากในนโยบายของพรรคก้าวไกลชัดเจนว่าต้องการที่จะยุบกอ.รมน. ซึ่งได้รับคำตอบจากตัวแทนของ กอ.รมน. ว่า กอ.รมน.มีงานที่ต้องดำเนินการภายใต้แผนบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ทำให้มีผลงานที่เป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้ถูกประชาสัมพันธ์ว่าได้รับการสนับสนุนจาก กอ.รมน. เช่น การปราบปรามยาเสพติดที่กอ.รมน.ทำงานร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้สอบถามหน่วยข่าวกรองว่าได้ติดตามและประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการรุกล้ำอธิปไตยของกองกำลังติดอาวุธในประเทศเมียนมาหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า มีการติดตามและประเมินอยู่ตลอดเวลา แต่ยอมรับว่า บางครั้งอาจจะประเมินผิดพลาด เพราะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมากด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง จึงจำเป็นที่จะต้องทำงานหนักขึ้น พยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้การประเมินข่าวเกิดความรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนั้น ยังได้สอบถามถึงท่าทีของไทยต่อเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอล ว่า ทางหน่วยความมั่นคงจะสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำโดยผู้เชี่ยวชาญให้รัฐบาลหรือไม่ ซึ่งทางหน่วยความมั่นคง ยืนยันว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพยายามส่งชุดประเมินและข้อมูลที่ได้วิเคราะห์โดยหน่วยงานต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปประกอบการตัดสินใจ เพื่อเป็นแนวทางนโยบายต่อไป

นายปิยรัฐ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อพูดคุยถึงแผนการทำงานของรัฐมนตรีและข้อเสนอแนะต่างๆ และที่ประชุมยังมีมติลงพื้นที่ศึกษาปัญหาตามแนวชายแดน อาทิ บ่อนการพนัน ยาเสพติด สถานที่กบดานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการลักลอบเข้าเมืองของขบวนการค้ามนุษย์ ในวันที่ 9-11 พ.ย. ที่ด้านชายแดนช่องจอม จ.สุรินทร์


กำลังโหลดความคิดเห็น