xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายภาค ปชช. ยื่น 5 ข้อ ถึง “รมว.ยุติธรรม” ขอคงคำสั่งคสช. 22/2558 ไว้เช็คบิลผับบาร์นอกแถว ขายเหล้าให้เด็ก มั่วยา ค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(10 ต.ค.)ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีเครือข่ายฯ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้คงไว้ซึ่งคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ หรือปรับปรุงให้เป็นพระราชบัญญัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้แสดงความขอบคุณจากกรณีที่มีการสั่งปิดสถานบริการนอกรีตไปแล้ว 788 แห่ง

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาคีเครือข่าย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีสถานบริการ ร้านเหล้า ผับ บาร์ ใกล้สถานศึกษาสร้างผลกระทบแก่นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งทางตรงทางอ้อม ภายใต้อิทธิพลของคนกลุ่มหนึ่งที่แสวงผลประโยชน์จากเยาวชน ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรียกรับผลประโยชน์ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ เปิดเกินเวลา ปัญหายาเสพติด อาวุธ ความรุนแรง การพนัน และการค้ามนุษย์ ซึ่งเครือข่ายได้ผลักดันให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเร่งหามาตรการป้องกัน แก้ปัญหาอย่างจริงจัง กระทั่งมีคำสั่งคสช.ที่ 22/2558 ที่ให้แต่ละสถานศึกษาร่วมกับ 6 หน่วยงานของรัฐ กำหนดพื้นที่ควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ขายแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา รายเก่าต้องไม่ทำผิดกฎหมาย หากพบว่าผิดกฎหมายจะถูกสั่งปิดถาวร ส่วนสถานประกอบการนอกโซนนิ่ง หากทำผิดกฎหมายจะถูกสั่งปิด 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีสถานประกอบการที่ทำผิดและถูกสั่งปิดกว่า 788 แห่ง ล่าสุดพบสถานบันเทิง 2 แห่งที่ละเมิดกฎหมายนี้ คือ 1. ผับดังกลางเมืองพะเยา ที่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการมากถึง 143 คน เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา และ2. สถานบันเทิงในตัวเมืองขอนแก่น ที่มีนักท่องเที่ยวเสพยาเสพติดและเปิดเกินเวลา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จึงควรรีบดำเนินการสั่งปิด

นางสาวปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นคำสั่งคสช. แต่ก็เป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนได้ใช้เวลาในการผลักดันกันมายาวนาน ถือว่ามีความสำคัญและมีประสิทธิภาพ ในทางปฏิบัติยังติดแค่การจัดทำแผนที่ของแต่ละสถานศึกษาที่ยังไม่ได้พัฒนาให้เป็นระบบสาระสนเทศทางภูมิศาสตร์ ดังนั้นภาคีเครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรม ดังนี้ 1. ขอให้คงคำสั่ง คสช. 22/2558ไว้เป็นกฎหมาย หรือพัฒนาปรับปรุงให้เป็นพระราชบัญญัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันและลดผลกระทบทางสังคมจากสถานบริการไม่ให้ทำผิดกฎหมาย และไม่ให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นในพื้นที่รอบสถานศึกษา 2. ขอให้เร่งพัฒนาแผนที่โซนนิ่งใกล้เคียงสถานศึกษา ให้เป็นระบบสาระสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อความชัดเจนและง่ายในการสืบค้น 3. พัฒนากลไกให้มีหน่วยงานกลางระดับชาติ รับผิดชอบการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ 4. ขอให้ดำเนินการให้มีคำสั่งปิดสถานบริการที่ทำผิดกฎหมายในพื้นที่ จ.พะเยา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ที่พบมีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มากถึง 143 คน เข้าใช้บริการ และสถานบริการแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ที่พบนักท่องเที่ยวเสพยาเสพติดและเปิดเกินเวลา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และ 5. เครือข่ายยินดีทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุการณ์ทำผิดกฎหมายของสถานบริการหรือสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

อนึ่งสำหรับเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมกิจกรรมอาทิ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ, เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง, เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต, เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน, มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว, เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง, เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน, เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน,มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา, เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม, มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน, มูลนิธิวิถีสุข, เครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น