xs
xsm
sm
md
lg

“สมาคมนักประดิษฐ์”ยินดี ‘พิมพ์ภัทรา’ นั่ง รมว.อุตสาหกรรม พร้อมชวนคนไทยร่วมงานสัมมนา“มาตรฐานผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(9 ต.ค.)ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต. สรายุทธ์ บุญเลิศกุล กรรมการและเลขาธิการฯ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด กรรมการสมาคมฯ และคณะ เข้าพบ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมอบแจกันดอกไม้แสดงความยินดี ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ รวมทั้ง ยังได้มีการเชิญ น.ส.พิมพ์ภัทรา ให้ร่วมกิจกรรมสัมมนาฯ ที่ทางสมาคมนักประดิษฐ์ฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนวัตกรรมจัดขึ้นในวันที่ 28 ตุลาคมนี้

โดย นายภณวัชร์นันท์ (พะ-นะ-วัด-นัน) กล่าวว่า เนื่องจากนวัตกรรมต่างๆ เริ่มทวีความสำคัญในด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้วางเอาไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ระบุว่า จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งตรงกับความมุ่งหมายของทางสมาคมฯ ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งนี้ ในด้านอุตสาหกรรมจะเห็นได้ว่า สิ่งประดิษฐ์ทางนวัตกรรมได้ทำหน้าที่หลายอย่างในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของสินค้า จนสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากมาย พร้อมๆกับการเกิดปัญหาใหม่ๆ ที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้คน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ทางสมาคมฯ ได้ตระหนักถึงจุดนี้เป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดงานสัมมนา “มาตรฐานผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่" ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยภายในงานสัมมนาดังกล่าว จะมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมจากนักศึกษา และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง จะมีการสัมมนาฯ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา จะมาพูดถึงมุมมองในเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นอีกภารกิจหนึ่ง ที่ทางสมาคมฯ ได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ คือ ดำเนินการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทย ให้มีมาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยเพื่อออกสู่ตลาดในประเทศและสู่สากลได้อย่างเต็มภาคภูมิทัดเทียม นานาอารยประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศ พร้อมกับ ส่งเสริมให้ บุคลากรทุกสาขาอาชีพมีวิสัยทัศน์ในการค้นคว้า วิจัย พัฒนาและประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งนําภูมิปัญญาไทยเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าและเป็นซอฟท์พาวเวอร์สำคัญของประเทศ

“สำหรับการเชิญ น.ส.พิมพ์ภัทรา มาร่วมงานสัมมนาที่ทางสมาคมนักประดิษฐ์ฯ จัดขึ้นนั้น เนื่องจากทางสมาคมฯ เห็นว่า นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องนำนวัตกรรมมาใช้ในงานอุตสาหกรรมแล้ว ผมยังเล็งเห็นว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา ถือเป็นหญิงเก่งในวงการเมืองของไทย เป็น ส.ส.ดูแลประชาชนมาตั้งแต่การลงเลือกตั้งครั้งแรกจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นคนที่ทำงานทางการเมืองอย่างขยันขันแข็ง และถือว่ามีวิสัยทัศน์ในการทำงานเป็นอย่างมาก จึงมีความเชื่อมั่นว่า การบริหารงานกระทรวงฯ ในยุคของ น.ส.พิมพ์ภัทรา นั้น จะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาและสรรค์สร้างผลงานเพื่อพัฒนาวงการนวัตกรรมของไทยได้ อย่างไรก็ตาม ผมและคณะกรรมการสมาคมฯ รวมถึงผู้ประกอบอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป ก็อยากทราบถึงแนวนโยบายการทำงานของ น.ส.พิมพ์ภัทรา จึงได้วางกำหนดการให้ปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมยุค “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” กับการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” เพื่อเป็นการเปิดตัวก่อนที่จะเข้าสู่ไฮไลท์สำคัญก็คือ การสัมมนาเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยมีการเชิญวิทยากรที่รอบรู้มาเป็นผู้ร่วมสัมมนา ขณะเดียวกัน ก็จะมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมที่สำคัญๆที่มีมาตรฐาน TISI "ทีซี่" และจำแนกมาตรฐานระหว่างประเทศ ICS 13.220.20 Environment. Health protection. Safety. Fire protection — Automatic. (สิ่งแวดล้อม. การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย — อัตโนมัติ) อาทิ เช่น ลูกบอลดับเพลิงอัตโนมัติ แบบใช้ภายในอาคารและนอกอาคาร แบบใช้ในห้องเครื่องยนต์รถยนต์ เรือยนต์ ซึ่งขณะนี้ ได้มีวิวัฒนาการทางด้านนวัตกรรมในการประยุกต์หุ่นยนต์(Little Robot Elide Fire Protect) เข้าใช้ระบบ ช่วยชีวิต ที่สามารถเข้าไปในพื้นที่แคบๆ หรือในพื้นที่ที่ประสบภัยต่างๆ พร้อมกับสามารถตรวจหาผู้รอดชีวิตหลังจากเกิดเหตุประสบภัยได้ โดยที่ประสิทธิภาพเทียบ ส่วนโรงเรียนอัสสัมชัญ ก็ได้มีการเรียนการสอนที่ปลูกฝังให้ผู้เรียน มีความคิดทางด้านนวัตกรรม เพื่อนำมาพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้ พร้อมทั้งกำลังจะก้าวสู่สถาบันแห่งการเรียนรู้ด้านวิศวกรรม (School of Engineering) ในทุกแขนง อาทิ วิศวกรรมด้านการบินและอวกาศ (Space) ด้านหุ่นยนต์ (Robot) การเชื่อมโยงอิเล็กทรอนิกส์ด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT & AI) วิทยาการข้อมูล (Data Science) รวมถึง เมตาเวิร์ส (METAVERSE) โดยจะนำนวัตกรรมที่ได้จากการเรียนการสอนมาจัดแสดง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานและผู้ประกอบการที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาจนสามารถสร้างยอดขายและสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผมจึงขอเชิญชวน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และผู้สนใจทางด้านนวัตกรรมสามารถมาร่วมงานสัมมนาฯ ได้ ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ”นายภณวัชร์นันท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น