xs
xsm
sm
md
lg

รุมค้านเงินดิจิทัล “คิดใหญ่ ไปไม่เป็น” !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เมืองไทย 360 องศา

ทำท่าเดินหน้าต่อลำบากเสียแล้วสำหรับ “นโยบายเรือธง” อย่างโครงการ “แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต” หัวละหมื่นบาท กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่ามีจำนวนราว 50.6 ล้านคน ต้องใช้เงินไม่ต่ำว่า 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงก่อนหน้านี้จะเริ่มแจกเงินดังกล่าว ราววันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีหน้าเป็นต้นไป พร้อมกับแจกแจงแนวทาง ระยะเวลาการแจก รัศมีการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร

แต่ล่าสุด เริ่มมีเสียงคัดค้านที่ดังขึ้นเรื่อยๆ และคนที่คัดค้านล้านแต่เป็นระดับที่เป็นนักวิชาการชั้นนำ หรือแม้แต่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลายคน มีความเห็นคัดค้านตรงกันคือ “ได้ไม่คุ้มเสีย” และฟันธงว่าจะทำให้เกิด “หนี้เพิ่ม” และทำให้หมดเงินงบประมาณสำหรับใช้ในโครงการลงทุนที่จำเป็นของประเทศ และที่สำคัญที่สุดก็คือ มัน “ทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง” เอาไว้

อย่างไรก็ดี เสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถือว่ามีน้ำหนักและสั่นสะเทือนนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยก็คือ แถลงการณ์ของบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลังจำนวน 99 คน เมื่อวันก่อน โดยในจำนวนนั้นมีทั้ง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2 คน คือ นายวิรไท สันติประภพ และ นางธาริษา วัฒนเกส รวมถึงอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ รวมทั้งอดีตคณบดี นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจำนวนมาก ซึ่งถือว่าน้อยครั้งมากที่พวกเขาออกมารวมตัวกันคัดค้านนโยบายของรัฐบาลแบบนี้ โดยเฉพาะระดับอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในพรรคเพื่อไทยเอง ก็ไม่เห็นด้วย เช่น นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และอีกหลายคน

โดยก่อนหน้านี้ ทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศคนปัจจุบัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็เคยแสดงความเห็นคัดค้านมาแล้ว โดยเฉพาะการแจกแบบ “เหวี่ยงแห” ให้คนทุกกลุ่ม เช่น เดียวกับการค้านนโยบายพักหนี้ที่ทำแบบเดียวกัน รวมไปถึงทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ “สภาพัฒน์” ก็ไม่เห็นด้วย

ในแถลงการณ์ของพวกเขา เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก นโยบายแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท พร้อมให้เหตุผลโดยสรุปจำนวน 7 ข้อดังนี้

1.ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงไม่มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่าและการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ยังเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังเริ่มลดลงได้ในปีนี้ มาอยู่ที่ 2.9% ท่ามกลางราคาพลังงานที่สูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง เพราะฉะนั้น การกระตุ้นการบริโภคในช่วงนี้จะทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น และอาจนำมาซึ่งสภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2. เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งล้วนที่จะสร้างศักยภาพการเติบโตในระยะยาว แทนการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระคนรุ่นหลัง

3.การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ “เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย” เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าระบบเป็นการคาดหวังเกินจริง เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐ ในลักษณะเงินโอนหรือแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนภาครัฐ

4.ไทยอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมานาน และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ ก็จะยิ่งทำให้ไทยเสียค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอีก

เพราะก่อนหน้านี้เงินเฟ้อสูงขึ้นการก่อหนี้จำนวนมาก ทั้งออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงิน ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับดอกเบี้ยทั้งนั้น หนี้สาธารณะของรัฐอยู่ที่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของจีดีพี เป็นภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเมื่อต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ย่อมมีผลต่อภาระเงินงบประมาณรัฐในแต่ละปี

5.นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็นคือ หลังจากทั่วโลกเผชิญทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศพยายามลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลงเพื่อสร้างที่ว่างทางการคลังได้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต แต่นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท สวนทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยมีรายรับจากภาษีเพียง 13.7% ของจีดีพี ถือว่าต่ำมากๆ

6.การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่ไม่สร้างความเป็นธรรม เศรษฐี มหาเศรษฐี ที่อายุมากกว่า 16 ปี ล้วนได้รับเงินทั้งที่ไม่มีความจำเป็น

7.ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเตรียมตัวทางการคลังเป็นสิ่งจำเป็นภาระการใช้จ่ายด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณให้คุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการคลังอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุผลทั้งหมดต่างๆ ข้างต้น นักวิชาการ และคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้น น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไป และสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว และควรทำแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ไม่เหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเสียงคัดค้านจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวที่ถือว่าระดับแนวหน้าของประเทศจะหนักแน่นแค่ไหนก็ตาม ทางรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า จะเดินหน้าต่อ อ้างว่าประชาชนเรียกร้องและรอแจกเงินจำนวนนี้อยู่

ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวว่า การแจกเงินดังกล่าว ทำให้คนจนได้รับประโยชน์ และเปรียบเหมือนการรดน้ำต้นไม้ ต้องรดที่ราก เพื่อให้แข็งแรง ไปสร้างความเติบโตให้กับใบ และลำต้น อย่างไรก็ดีเขายอมรับว่า แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็หาทางป้องกันไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ออกมาสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล พร้อมกับตอบโต้ฝ่ายที่คัดค้านทำนองว่า ไม่เห็นหัวคนจน เพราะตัวเองมีกินมีใช้ ไม่เดือดร้อน พร้อมกับย้ำว่าเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ผลคุ้มค่า

ขณะเดียวกัน แม้ว่าเวลานี้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายที่ดังขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่นั่นไม่เท่ากับว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผย “ที่มา” ของเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าว ว่าได้จากไหน เพราะรัฐบาลย้ำว่าจะไม่กู้ ไม่สร้างหนี้เพิ่ม แต่มีหลายคนมั่นใจ “ต้องกู้เพิ่ม” และสร้างหนี้เพิ่มแน่นอน เพียงแต่ว่าจะใช้วิธี “ตบตา”แบบไหนเท่านั้นเอง

โดยเฉพาะมีเสียงดักทางเอาไว้แล้วว่า ต้องมีการกู้เงินจากธนาคารออมสินแน่นอน รวมไปถึงการหยิบยืมจากเงินกองทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น กองทุนวายุภักดิ์ เป็นต้น ไม่เว้นแม้แต่การยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

ดังนั้น การมีเสียงคัดค้านออกมามากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่งมันย่อมส่งผลให้การดำเนินการตามโครงการยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหมือนกับว่าทุกคนรู้ทันว่ารัฐบาลจะขยับไปทางไหน ก็ไปดักทางไว้ล่วงหน้าเหมือนกับการคาดว่า “ต้องกู้เงินแบงก์ออมสิน” ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ไม่มีการปฏิเสธ แต่ขณะเดียวกันนาทีนี้ ไม่ว่าจะมีแรงต้านแค่ไหน เชื่อว่ารัฐบาลต้องเดินหน้า ถอยไม่ได้แล้ว แต่คำถามก็คือ จะเดินต่ออย่างไร เพราะจะหาเงินมาจากไหนต่างหาก และที่สำคัญคุยโตไว้เยอะ เช่น “”คิดใหญ่ทำเป็น” เอาเข้าจริงทำท่าจะ “ไปไม่เป็น” ต่างหาก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น