xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ตั้งเป้าบริหารจัดการน้ำท่วม-แล้ง แบบสมดุล ดูแลทั้งภาคเกษตร-อุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ตั้งเป้าบริหารจัดการน้ำท่วม-แล้ง แบบสมดุล ดูแลทั้งภาคเกษตร-อุตสาหกรรม ไม่ให้เกิดผลกระทบ ชี้ทุกหน่วยต้องบูรณาการ พร้อมจับมือเอกชนสร้างความรู้ความเข้าใจ

เมื่อเวลา 11.43 น. วันที่ 3 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและเป็นเรื่องแรกของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้มีการสั่งการให้รัฐมนตรีทุกท่านใส่ใจเป็นพิเศษ และกำชับสส.ที่อยู่ในการควบคุมดูแลลงพื้นที่ให้มาก ซึ่งเราต้องดูแลคนที่เดือดร้อนทันที รวมถึงการเยียวยาพื้นที่เพาะปลูกที่จะมีการสูญเสียจะต้องมีการชดใช้ ส่วนเรื่องการผันน้ำวันนี้จะมีการคุยต่อเพื่อดูถึงการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่

“เราทำงานลักษณะไม่อยากให้เป็นลักษณะวัวหายล้อมคอก ฉะนั้นในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค.นี้ตนจะเดินทางลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเห็นจากพื้นที่เรียลไทม์ของกรมชลประทานแล้ว ตรงนี้มีความกังวลเพราะมีพื้นที่น้ำล้นเอ่อเกินจุดที่สบายใจ โดยผมจะลงไปสั่งการและบอกเจ้าหน้าที่ไปแล้วให้เตรียมแผนงานไว้ด้วย เพราะปีที่ผ่านมาจ.อุบลราชธานีรู้สึกว่าน้ำท่วมมากและนานมากด้วย หากท่วมแปบเดียวพืชผลอาจจะไม่เสียหายมาก แต่ท่วมนานจะเสียหายมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีทุกท่านให้ความกังวล ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้มีการรายงานและคงจะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแผนระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า มีเป็นแผนการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งต้องขอเวลาเตรียมงาน เมื่อถามว่าทราบว่ามีความเป็นห่วงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ นายกฯกล่าวว่า เรื่องของน้ำมี 4 ข้อที่ต้องกังวล 1.น้ำอุปโภคบริโภค ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีพออยู่แล้ว 2. น้ำรักษาระบบนิเวศน์ซึ่งมีการบริหารจัดการอยู่ 3. ที่ห่วงมากคือน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และตอนนี้เป็นเรื่องของน้ำท่วมและอีก 6 เดือนจะเป็นเรื่องของแล้ง ตรงนี้ต้องบริหารจัดการอย่างพอเหมาะ การระบายน้ำหากระบายมากเกินไปเก็บในเขื่อนน้อยเกินไปก็จะเกิดปัญหาแล้ง หากใช้จังหวะที่ฝนตกเยอะระบายน้ำไปเก็บไว้ในพื้นที่เหมาะสมควรจะเก็บจะมีประโยชน์

นายกฯ กล่าวอีกว่า และ 4. ที่คนพูดถึงน้อยเป็นน้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมใหม่ๆไฮเทคที่จะเข้ามามีความต้องการน้ำเยอะมาก ซึ่งปัจจุบันเรายังเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน ความจำเป็นใช้นำ้ยังมีอยู่ แต่ถ้ามีข่าวออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าเรามีภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี เพียงแต่จะต้องป้องกันโดยทำงานเชิงรุก ต้องดูแลให้ดีภาคอุตสาหกรรมจะต้องไม่มีการขาดแคลนน้ำ ถ้าตรงนี้สามารถบริหารจัดการได้ดีเชื่อว่าจะเป็นการดึงดูดใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในแง่ของไฮเทคที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่จะปล่อยปะละเลยไม่ได้

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ได้มีการคุยกับรมว.เกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน มีการให้ความรู้กับภาคเอกชน โดยนำ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซีอีโอ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งท่านมีความรู้ในภาคอุตสาหกรรมมาให้คำแนะนำและมีการพูดคุยกัน ว่าต้องทำอย่างไรบ้างต้องการน้ำที่ไหนเท่าไหร่ อย่างไร และหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง มอนิเตอร์กันอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น