“กรมการข้าว” มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทย – ผู้ประกอบการไทย เร่งเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวให้เกิดความยั่งยืนเชิงพาณิชย์ พร้อมเตรียมจัดตั้ง Rice shop ผลักดันสู่ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพจากทั่วประเทศ
นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวภายหลังเป็นประธานนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลดำเนินงานของ“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ”และ”กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านสวายสอ" หมู่ 7 บ้านสวายสอ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ว่า กรมการข้าวรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าวในรูปแบบหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูง ส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มความตระหนักรู้ถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ข้าวไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตข้าว และการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว ทั้งนี้ เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ในปี2567 อธิบดีกรมการข้าว
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ มีแผนที่จะส่งเสริมตลาดข้าวให้ผู้ประกอบการไทยในหลายด้าน อาทิเช่น ด้านการเชื่อมโยงตลาดข้าว โดยการจัดเวทีจับคู่ธุรกิจสินค้าข้าวระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าข้าว(Business Matching) การสนับสนุนการออกร้านและแพลตฟอร์มออนไลน์ในการส่งเสริมการขายสินค้าข้าว ด้านการประชาสัมพันธ์จะเดินหน้าสร้างการรับรู้และส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการขั้นต้น การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว การตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงการร่วมกันคิดค้นและพัฒนาสูตร
“สำหรับผลดำเนินงานที่ผ่านมา กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าวได้มีการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ปี2559 – 2564 ในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ทั้งในรูปแบบการแปรรูปขั้นต้นและนวัตกรรมการแปรรูปขั้นสูงจำนวนกว่า 88 ผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านที่เป็นอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร ปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการต่อยอดสุราของรัฐบาล รวมทั้งได้พัฒนาสูตรลูกแป้งทำสาโท นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่จะจัดตั้ง Rice shop ซึ่งจะเป็นศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพจากทั่วทุกภูมิภาค ส่วนด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอาทิเช่น การนำแกลบมาต่อยอดแปรรูปเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร
โดยนายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว ยังกล่าวต่ออีกว่า กรมการข้าวโดยกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ยังได้นำโครงการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ปี 2563 คือ กลุ่มบ้านสวายสอ สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากข้าวกล้องงอกผง 4ชนิดและกลุ่มแซตอม สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์สุราแช่พื้นเมือง สำหรับ“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ”และ”กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านสวายสอ" เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิภายใต้สัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” หรือ “SARUS RICE” ซึ่งนับเป็นอีกชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในตลาดอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณภาพสูง ซึ่งมีอัตลักษณ์หนึ่งเดียวของจังหวัดบุรีรัมย์ และแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเชื่อมโยงในแปลงนาข้าวอินทรีย์อย่างน่าทึ่ง ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมการข้าว ได้เข้าไปสนับสนุน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ” และ“กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านสวายสอ”ในหลายด้าน ทั้งการสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ส่วนด้านการตลาดเข้าโครงการข้าวตลาดเฉพาะรวมทั้งการประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
ด้านนายทองพูน อุ่นจิตต์ ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ กล่าวว่า ที่ผ่านต้องยอมรับว่าปัญหาของประชาชนที่ประกอบอาชีพทำนามีลักษณะเหมือนกันคือ ผลผลิตได้ราคาตกต่ำ ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ไม่มีอำนาจในการต่อรองราคา อีกทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตสูงและมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าวประชาชนและภาครัฐได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการร่วมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผู้ปลูกข้าว หมู่ที่ 7 บ้านสวายสอ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2557 มีสมาชิกแรกเริ่มก่อตั้ง 20 ราย เป็นการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำและต้นทุนสูง โดยมีผู้ใหญ่บ้าน นายทองพูน อุ่นจิตต์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยใช้ชื่อวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ต่อมาในปี พ.ศ.2560 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น "แปลงใหญ่ข้าว" หมู่ที่ 7 บ้านสวายสอ ภายใต้โครงการระบบส่งเสริม "การเกษตรแบบแปลงใหญ่"
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ได้พัฒนาชุมชนให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นสัญลักษณ์ โดยที่มาของแบรนด์“SARUS RICE” มาจากชื่อทั่วไปของนกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) ซึ่งสำหรับภาษาไทยใช้คำว่า “ข้าวสารัช”
“ข้าวสารัช” หมายถึง “ข้าวที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนในการผลิตเพื่อความคงอยู่ของระบบนิเวศที่เป็นถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย และสมดุลของธรรมชาติ การดำรงอยู่ของนกกระเรียนในแปลงข้าวของเกษตรกรจึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่ดีว่า แปลงข้าวของเกษตรกรนั้นเป็นอินทรีย์100%” นายทองพูน อุ่นจิตต์ ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ กล่าว