อดีต รมว.คลัง ชี้ ดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้าง เพราะโทเคน 1 หมื่นบาท ไม่ต่างจากโทเคนดิจิทัลเอกชนอื่นๆ ไม่ใช่ “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่พัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง ทำไมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แทนที่จะใช้แอปเป๋าตัง
วันที่ 26 ก.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการแจกเงินประชาชนคนละ 10,000 บาท โดยผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล ดังนี้
ดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (1)
รมช.คลัง:- “พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า นโยบาย Digital Wallet จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีแบบเดิม เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”
ผมตั้งข้อสังเกตว่า:- ข้ออ้างนี้ยังไม่จริง เพราะดิจิทัลวอลเล็ตตามที่ออกแบบไว้ ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องมีการปรับปรุงแนวคิด
อธิบายดังนี้
***1 โทเคน 10,000 บาท ไม่ได้แตกต่างจาก “โทเคนดิจิทัล” เอกชนอื่นๆ
พระราชกําหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็นสองระดับ คือ ระดับเพื่อใช้งานทั่วไปทั้งประเทศ เรียกว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” ซึ่งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล
“คริปโทเคอร์เรนซี” ซึ่งเป็น means of payment จึงจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่พัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง
ขณะนี้ ยังไม่มีเอกชนออก “คริปโทเคอร์เรนซี” เป็นเงินบาทในประเทศไทย
ส่วนระดับเพื่อใช้เฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะกิจ เรียกว่า “โทเคนดิจิทัล” ซึ่งเป็นสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ซึ่งโทเคน 10,000 บาท เข้าลักษณะนี้
ข้อมูลใน marketingoops.com เอกชนในไทยมีการออก “โทเคนดิจิทัล” แล้ว หลายราย เช่น Bitkub Coin, JFIN Coin, SIX Coin, ZMT Coin, FIRO Coin เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า “โทเคนดิจิทัล” ที่ออกโดยเอกชน ไม่ได้เป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างแท้จริง
ส่วนโทเคน 10,000 บาท ที่กระทรวงการคลังจะให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก ถ้ามีบทบาทเป็นเพียง “โทเคนดิจิทัล” ก็จะไม่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน
***2 “คริปโทเคอร์เรนซี” เข้าข่ายเป็นเงินตรา
เนื่องจาก “คริปโทเคอร์เรนซี” เป็น means of payment อันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จึงย่อมเป็นเงินตราโดยสภาพ
โทเคน 10,000 บาทที่กระทรวงการคลังจะให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก นั้น จึงจะต้องระวัง มิให้หลงทาง เตร็ดเตร่ไปทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนใดๆ
ดังนั้น ระบบบล็อกเชนของโทเคน 10,000 บาท จึงจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมล็อค
- ห้ามมิให้เจ้าของดิจิทัลวอลเล็ตประชาชนรายหนึ่ง (นาย ก.) โอนโทเคนของตน ไปให้แก่เจ้าของดิจิทัลวอลเล็ตประชาชนอีกรายหนึ่ง (นาย ข.)
- จะต้องอนุญาตให้เจ้าของดิจิทัลวอลเล็ตประชาชน (นาย ก.) โอนโทเคนของตน ไปให้แก่เจ้าของดิจิทัลวอลเล็ตร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนไว้ (ร้าน ค.) เท่านั้น
- เงื่อนไขในข่าว ที่เจ้าของดิจิทัลวอลเล็ตร้านค้าปลีก (ร้าน ค.) เมื่อได้รับโทเคน 10,000 บาทแล้ว จะสามารถโอนโทเคนของตน ไปให้แก่เจ้าของดิจิทัลวอลเล็ตร้านค้าส่ง (ร้าน ง.) เพื่อซื้อสินค้า นั้น
เงื่อนไขนี้ ก็จะต้องเขียนโปรแกรมปิดเอาไว้ เพราะถ้าอนุญาตให้ทำได้ ก็จะเปลี่ยนสภาพไปเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” โดยอัตโนมัติ จะฝ่าฝืนกฎหมายเงินตรา
สรุปแล้ว เมื่อตัด function ที่มีสภาพเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” ออกไป โทเคน 10,000 บาทก็ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่า “โทเคนดิจิทัล” ที่เอกชนออกไปแล้วหลายคอยน์
และจะเกิดคำถามว่า ในเมื่อไม่มีอะไรพิเศษไปกว่า “โทเคนดิจิทัล” ที่เอกชนออกไปแล้ว ทำไมจะต้องไปเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แทนที่จะใช้แอปเป๋าตัง
***3 โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ จะต้องเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” ไม่ใช่ “โทเคนดิจิทัล”
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้บริหาร BitKub ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ได้จริง นั้น จะต้องเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่วางตัวอยู่ในชั้นที่ลอยเหนือ “โทเคนดิจิทัล”
ซึ่งจะอธิบายในบทความต่อไป
ต่อมาวันนี้ (27 ก.ย.) นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติม ดังนี้
ดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (2)
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (ท๊อป) ผู้บริหาร BitKub ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า
สิ่งที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ได้จริง นั้น จะต้องเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่วางตัวอยู่ในชั้นที่ลอยเหนือ “โทเคนดิจิทัล”
ผมจัดทำรูป 1-2 เพื่ออธิบายแบบง่าย
ท๊อป ชี้แนะว่า การที่เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง นั้น ต้องไม่ใช่อยู่ในชั้น “โทเคนดิจิทัล” (บรรทัดต่ำสุดในรูป 1)
แต่จะต้องวางในชั้นที่สูงขึ้น คือในชั้นของ “คริปโทเคอร์เรนซี” ซึ่งในรูป 1 คือบรรทัดสูงสุดที่มีคำว่า ดิจิทัลบาท
ท๊อป อธิบายว่า เศรษฐกิจดิจิทัลขั้นต่อไป จะต้องเปลี่ยน “โทเคนดิจิทัล” ในชั้นล่างสุด จากระบบปิด ให้เป็นระบบเปิด
ท๊อปพูดว่า [["ระบบข้างบนก็เป็นระบบเป็น National blockchain ระดับประเทศ เชื่อมต่อแต่ละหน่วยเข้าด้วยกัน
เพื่อที่จะมี interoperability
ได้ทั้ง scalability และ interoperability และ smart contract ที่ใส่เงื่อนไขได้อยู่ใน layer ข้างบน"]]
อธิบายแบบชาวบ้านก็คือ ถ้าจะทำโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ จะให้มีประสิทธิผลแท้จริง
ก็ต้องทำให้เป็นระบบบล็อกเชน ที่เปิดให้ทุกคนทั่วประเทศเข้ามาใช้ได้
อันจะทำให้สามารถโอนแลกเปลี่ยนระหว่าง “โทเคนดิจิทัล” ในชั้นล่างสุดเกิดขึ้นได้ เรียกว่า interoperability
ระบบบล็อกเชน ที่ทำให้สามารถโอนแลกเปลี่ยนระหว่าง “โทเคนดิจิทัล” ได้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
ที่นักธุรกิจดิจิทัลคนรุ่นใหม่ จะสามารถสร้างระบบ decentralized finance (ที่ใช้ smart contract) ให้เกิดขึ้น
decentralized finance ที่จะเกิดขึ้น จะแข่งขันกับระบบแบงค์ปัจจุบัน ซึ่งในอนาคต จะทำให้ค่าบริการทางการเงินลดลง
นี่จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างแท้จริง
ท๊อป บรรยายเพิ่มเติมว่า การมี National Blockchain นอกจากจะช่วยการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่าง “โทเคนดิจิทัล” แล้ว
ยังจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยง Centralized Database VASP เข้าถึงกันได้ด้วย
ประเทศไทยมี VASP (Virtual Asset Service Providers ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือน) อยู่หลายราย เช่น True Money หรือ MPay หรือ เป๋าตังค์
แต่ละ VASP มี user หลายล้านคนอยู่แล้ว และมีรูปแบบของ segment ของ market ที่น่าจะครอบคลุมทั้งประเทศได้
ในรูป 1 ผมแสดงการเชื่อมโยง VASP เข้าถึงกัน ผ่านระบบดิจิทัลบาท
ท๊อปพูดเสริมว่า [[“สำหรับ BitKub ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ซึ่งเราทำอยู่แล้ว ใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน ก็ทำได้”]]
อธิบายแบบชาวบ้านก็คือ
ท๊อป เสนอตัวว่า ถ้าจะให้ BitKub เปลี่ยนบทบาทไปเป็น National Blockchain เขาก็จะใช้เวลาเพียง 3-6 เดือน
แต่แน่นอนว่า การที่ BitKub จะเปลี่ยนบทบาทเช่นนั้น ก็คือจะเปลี่ยนไปเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี”
มาถึงคำถามสำคัญที่สุด
ถามว่า ระบบ National Blockchain ที่จะเชื่อมโยงทุกกิจกรรมให้เข้าถึงกันได้ เพื่อเปลี่ยนจากระบบปิด ไปเป็นระบบเปิด นั้น
มีทางเลือกอย่างไรบ้าง
***ทางเลือกที่หนึ่ง เปิดให้เอกชนทำโดยเสรี
ตัวอย่างคือกรณีของสหรัฐฯ เอกชนรายใดจะออก stable coin ที่อิงกับดอลล่าร์ 100% ก็ทำได้เสรี เช่น USDT , USDC
ทางเลือกนี้จะมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น
เพราะสหรัฐฯยังไม่มีกฎหมายกำกับผู้ออก stable coin จึงมีข่าวเป็นระยะว่า
บางรายมีการออกจำนวนคอยน์ เกินกว่าสินทรัพย์ที่หนุนหลัง
หรือบางรายเอาสินทรัพย์ที่หนุนหลัง ไปลงทุนเสี่ยงภัยแล้วขาดทุน
นอกจากนี้ ในกรณีประเทศเล็กอย่างไทย ธนาคารชาติควรคิดให้ดี
เพราะถ้ามีปัญหาความเชื่อมั่นใน stable coin ของเอกชน ก็จะวุ่นวายไม่แพ้บริษัทเงินทุนล้ม
*** ทางเลือกที่สอง กระทรวงการคลัง promote ให้มีบริษัทเอกชนทำเพียงรายเดียว
ทางเลือกนี้จะมีปัญหา เพราะจะมีการเลือกที่รักมักที่ชัง และข้อกังวลผลประโยชน์ส่วนตนซ่อนอยู่เบื้องหลัง
และถ้าบริษัทนี้ เกิดบริหารงานผิดพลาด หรือไม่ตรงไปตรงมา ก็จะมีปัญหาความเชื่อมั่นได้เช่นเดียวกัน
*** ทางเลือกที่สาม กระทรวงการคลังขอให้ธนาคารชาติออกดิจิทัลบาท เป็น CBDC
ทางเลือกนี้น่าจะดีที่สุด เพราะการดำเนินการจะมั่นคงอยู่ภายใต้ธนาคารชาติ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ว่าทางเลือกใด ไม่จำเป็นต้องเอาการแจกเงินมาปะปน
ไม่ว่าทางเลือกใด สามารถพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องมีการแจกเงิน
ผมจึงขอแนะนำท่านนายกเศรษฐา ให้ระวังการอ้างว่า โทเคน 10,000 บาท เป็นเรื่องที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินใหม่
เพราะคนรุ่นหนุ่ม ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการ อธิบายฟังได้แล้วว่า มันเป็นคนละเรื่องกัน
วันที่ 27 กันยายน 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ