ทุกประเทศเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ก็ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ต่อประชาชน และต้องมีการแสดงความมุ่งมั่นชัดเจนโดยการประกาศนโยบายในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลใหม่นี้จะเข้ามาดำเนินการอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 162 จึงบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 164 ก็ได้บัญญัติให้ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้นด้วย
ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว รัฐบาลมีทางเลือกในการกำหนดมาตรการหรือกลไกที่สามารถนำมาใช้จัดทำและขับเคลื่อนนโยบายเหล่านั้นให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมได้มากมายหลายวิธี โดยเฉพาะมาตรการในทางบริหาร อาทิ การใช้กลไกหรืออำนาจทั่วไปของฝ่ายบริหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การสั่งการผ่านไปยังกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น มาตรการเกี่ยวกับการเงินการคลัง ภาษีอากร การใช้กลไกที่มีอยู่ตามกองทุนต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมอบหมายสั่งการโดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมตลอดทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติในเรื่องใด ๆ ที่มีความสำคัญหรือต้องบูรณาการการทำงานระหว่างหลายกระทรวง หรือเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องออกเป็นมติของคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี มาตรการหรือกลไกหลักสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการขับเคลื่อนและดำเนินนโยบายของรัฐบาลก็คือ การใช้ “มาตรการทางกฎหมาย” (ซึ่งในที่นี้จะมุ่งเน้นไปที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ) ไม่ว่าเป็นการตรากฎหมายขึ้นใหม่ การแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่ การยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่อาจล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ตลอดจนการ “ปรับปรุงกฎหมาย” โดยยกเลิกกฎหมายเก่าและออกกฎหมายใหม่ในเรื่องเดียวกันนั้นมาใช้บังคับแทน
ซึ่งในการดำเนินมาตรการทางกฎหมายนั้น ปัจจุบันได้มี “พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562” หรือ “พรบ.77” ที่ออกมาตามแนวคิดและหลักการว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย หรือ “แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ” (Good Regulatory Practices: GRPs) ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติอันเป็นกลไกที่สามารถช่วยส่งเสริมการดำเนินนโยบายของรัฐบาลด้วยมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังต่อไปนี้
1. มาตรการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย โดยมาตรา 12 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เสนอให้มีการตรากฎหมายใดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้น และต้องทำการวิเคราะห์โดยมีข้อมูลและเอกสารหลักฐานประกอบชัดเจนว่า 1) ไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น 2) คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชน รวมทั้ง 3) ไม่สามารถใช้มาตรการหรือวิธีการอื่นใดนอกจากการตราเป็นกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายย่อมเป็นมาตรการสุดท้ายที่รัฐพึงนำมาเลือกใช้เพราะอาจก่อให้เกิดการกระทบหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้
2. มาตรการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 17 ประกอบกับ “แนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย” เพื่อให้ภาครัฐมีการคาดการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบล่วงหน้าก่อนการออกกฎหมายมาใช้บังคับ ว่ามีเหตุผลความจำเป็นหรือสภาพปัญหาอย่างแท้จริง และภาครัฐมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหานั้นได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบและภาระอุปสรรคเกินสมควรต่อประชาชน รวมทั้งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนผลกระทบอื่นใดอันไม่พึงประสงค์หรือที่มิได้คาดหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมามีคุณภาพที่ดี ไม่ก่อปัญหาอื่น และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้มากที่สุด
3. มาตรการตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมาย ตามมาตรา 21 ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบให้บทบัญญัติของกฎหมายที่ออกมาตามนโยบายนั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งหลักกฎหมายพื้นฐานและหลักการสำคัญประการต่าง ๆ เช่น หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันจะเป็นการสอดคล้องกับมาตรา 164 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลั่นกรองการใช้ระบบอนุญาต การให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการใช้โทษอาญาในกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนโดยตรง
4. มาตรการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ ยังคงมีความจำเป็น และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งรวมถึงความสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุจนไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่สูญเสียไป
5. มาตรการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและความเปิดเผยโปร่งใสในทุกมิติ โดยเฉพาะกลไกของ “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ตามมาตรา 11 ของ พรบ.77 ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาขับเคลื่อนนโยบายโดยการออกกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายต่าง ๆ ตามมาตรา 36 เพื่อให้ประชาชนทราบและเข้าใจเนื้อหาสาระอันจะทำให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ ซึ่งรวมถึงคำแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษอันจะสามารถมีส่วนช่วยในการส่งเสริมเกี่ยวกับการค้าการลงทุนของประเทศด้วย
6. มาตรการเร่งรัดให้มีการออกกฎตามมาตรา 22 วรรคสอง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเร่งพิจารณาออกกฎหมายลำดับรองตามบทอาศัยอำนาจในกฎหมายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้กฎหมายและนโยบายของรัฐบาลบังเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อันจะส่งผลเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
กล่าวโดยสรุปแล้ว พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ มีบทบัญญัติที่กำหนดกลไกต่าง ๆ ซึ่งสามารถสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร (Legal Ecosystem) ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายที่สำคัญสูงสุด คือ การพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “Better Regulation for Better Life”