อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้ “กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล(กพน.)” คือหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำบาดาลแก้น้ำแล้ง – น้ำท่วม เผยปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กพน.สนับสนุนโครงการใหญ่ช่วยประชาชนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล(กพน.) คือหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำบาดาลแก้น้ำแล้ง – น้ำท่วมของประเทศ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่สำคัญๆ ได้แก่ โครงการศึกษาสำรวจศักยภาพน้ำบาดาลบนพื้นที่เกาะในภาคใต้ของประเทศไทย พื้นที่เกาะยาว จ.พังงา เพื่อศึกษาสำรวจศักยภาพน้ำบาดาล และความเหมาะสมในการพัฒนาน้ำบาดาล พร้อมทั้งรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการน้ำบาดาลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศพื้นที่เกาะยาว และสามารถรองรับการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม ซึ่งจะทำให้ประชาชนบนเกาะยาว ไม่น้อยกว่า 3,600 ครัวเรือน
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลต้นทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.มุกดาหาร ซึ่งประชาชนในพื้นที่ 64,450 ครัวเรือน จะมีแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการศึกษาสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในหินตะกอนชุดไทรแอสซิคประเภทหินเชิร์ตและหินดินดาน ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งเป็น 1 ใน 15 โครงการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 1) ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 592 ครัวเรือน
นายธัญญา กล่าวอีกว่า กพน.ยังสนับสนุนโครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาน้ำบาดาลให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี (ระยะที่ 2) โดยดำเนินการก่อสร้างรูปแบบระบบประปาบาดาลและระบบเติมน้ำใต้ดิน 3 พื้นที่ (ต.หนองกร่าง อ.บ่อพลอย, ต.หนองนกแก้ว ต.หนองโสน อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี) เมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้น จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่หาน้ำยากและแล้งซ้ำซากได้อย่างยั่งยืน ประชาชนใน 3 พื้นที่ จะมีน้ำกิน น้ำใช้ และทำการเกษตรไม่น้อยกว่า 16,686 คนหรือ 8,350 ครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ยกคุณภาพชีวิต และมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันด้านน้ำบาดาลเพื่อบริกาประชาชน(Badan4Thai) เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันให้บริการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีการแสดงผลผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Devices) บนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เข้าใจง่าย และทันสมัย สำหรับบริการประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ใช้ข้อมูลด้านน้ำบาดาล เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลอย่างคุ้มค่า โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำบาดาล (Smart Pasutara) ให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัย