xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายเชาว์” ยันหมายค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าบ้านใคร ชี้รอง ผบ.ตร.ไล่ตำรวจกลับอาจเข้าข่ายขัดขวาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายเชาว์” ยกข้อกฎหมาย ตำรวจไซเบอร์ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก ทำตามขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นบ้านใคร ชี้ บิ๊กโจ๊ก ไล่ตำรวจชุดตรวจค้นกลับบ้าน อาจเข้าข่ายขัดขวางหมายค้น ดูหมิ่น พนง. เหตุรู้ดีอยู่แล้วว่า ผู้ค้นมีอำนาจตามกฎหมาย

วันนี้(26 ก.ย.66) นายเชาว์ มีขวด ทนายความ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ค แสดงความคิดเห็น ประเด็นการค้นบ้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เรื่อง หมายค้น “บ้านบิ๊กโจ๊ก” ใครทำผิดกฎหมาย มีเนื้อหาระบุว่า มีข้อถกเถียงภายหลังตำรวจไซเบอร์ เข้าค้นบ้านพักพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ. ตร. เมื่อช่วงเช้าวานนี้(25 ก.ย. 66) โดยเฉพาะบิ๊กโจ๊กเจ้าของบ้านให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ว่า “จากการดูหมายค้นไม่มีชื่อของตน เข้าใจได้ว่าการขอหมายค้นเป็นการหลอกศาล ไม่สุจริต เพราะการขอหมายค้นเป็นการขอหมายค้นเพียงแค่บ้านเลขที่ ไม่ได้บอกศาลว่าเป็นบ้านใคร ทั้งๆ ที่ตนอยู่บ้านนี้มาตลอดและใครๆ ก็รู้ว่าผมอยู่บ้านหลังนี้ และการค้นบ้าน ให้มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้ามาค้น ซึ่งจากการค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีเส้นเงินที่สาวมาถึงตน ทั้งนี้ได้ตั้งทีมกฎหมายถ้ามีความผิดจะไล่ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง มองว่าทำเกินกว่าเหตุและตัวเองไม่มีคดี แต่แค่ต้องการให้เสียชื่อเสียง ถ้าเป็นบ้านผู้ใหญ่ระดับ รอง ผบ.ตร. ศาลจะไม่ออกหมายค้น ชื่อบ้าน 5 หลังเป็นญาติของตัวเองมาจากสงขลา เป็นชื่อผู้ซื้อตัวเอง เมื่อเช้ามีการเข้าค้นไม่มีของผิดกฎหมายอะไร มีการจับกุมลูกน้องที่วิ่งงานเป็นตำรวจชั้นประทวน ข้อหาเว็บพนันและอยู่ระว่างส่งตัวไปประกันที่ศาล”

คำสัมภาษณ์ของพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หรือ บิ๊กโจ๊ก นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับ 1 ใน 4 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักกฎหมายเรื่องหมายค้นและการออกหมายค้นของศาล โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า” ถ้าศาลรู้ว่าเป็นบ้านของตนก็จะไม่ออกหมายค้นให้” และ”ไล่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามหมายให้กลับไป อ้างว่าตนเป็นรอง ผบ. ตร ต้องมีตำรวจระดับผู้ใหญ่มาค้น” ยิ่งไม่ถูกไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 ซึ่งบัญญัติว่า

“เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้
1.เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา 2.เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระท าความผิด 3. เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 4.เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ 5. เพื่อพบหรือยึดสิ่งของตามค าพิพากษาหรือตามค าสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว”

นายเชาว์ระบุด้วยว่า ส่วนหมายค้น ต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง มีบัญญัติไว้ในมตรา 60 ว่า “กรณีที่มีการออกหมายค้น จะต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้ 1) สถานที่ที่ออกหมาย
2) วันเดือนปีที่ออกหมาย 3) เหตุที่ต้องออกหมาย 4) ระบุสถานที่ที่จะค้น ชื่อหรือรูปพรรณบุคคล หรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้น
5) ระบุความผิด หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย 6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล

มีคำชี้แจงจาก “พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์)เผยเปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมตรวจค้นบ้านพักของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ว่า เป็นการขยายผลจากการจับกุมเว็บไซต์พนันออนไลน์ โดยชุด pct ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดปฏิบัติการตรวจค้นสถานที่หลายแห่งทั่วประเทศที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ โดยสาเหตุที่ต้องตรวจค้นบ้านของบพลอตำรวจเอกสุรเชษฐ์ เพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับที่คาดว่าอาจจะพักอยู่บริเวณนี้ และเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนสาเหตุที่วันนี้ตนเองต้องเดินทางมาร่วมด้วยเนื่องจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องการให้มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงร่วมด้วย และสามารถจับบุคคลตามหมายจับที่พักอาศัยอยู่ในบ้าน ตามหมายค้นได้หนึ่งคน”

“ผมจึงเห็นว่า การขอออกหมายค้นต่อศาล ของตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์)เพื่อค้นบ้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการออกหมายค้นได้ คือ 1. ค้นเพื่อพบและยึดสิ่งของ 2. ค้นเพื่อจับกุมผู้มีหมายจับ ส่วนรายละเอียดในหมายค้น เพียงระบุสถานที่ที่จะค้น ว่าเป็นบ้านเลขที่ใดก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องระบุว่าบ้านหลังนี้เป็นของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หรือเป็นของใคร ที่สำคัญ การที่พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ รับทราบหมายค้นตามคำสั่งศาลแล้ว พูดจาเชิงข่มขู่ไล่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฎิบัติตามหมายศาลให้กลับบ้าน ถือเป็นพฤติการณ์ที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ถือว่าขัดขวางการค้น และอาจถือเป็นถ้อยคำ สบประมาท หรือทำให้อับอาย เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้มีอำนาจจัดการตามหมายค้น ตามกฎหมายคือ เจ้าพนักงานผู้ที่มีชื่อในหมายค้น หรือผู้รักษาการแทน จะมีอำนาจเป็นหัวหน้าในการจัดการให้เป็นไปตามหมายค้น เพียงแต่ต้องเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสาม หรือ ตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าการค้นบ้านนายตำรวจระดับสูงยศพลตำรวจเอกต้องให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้นำค้นด้วย” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น