xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ย้ำความเป็นพันธมิตรเกือบ 2 ศตวรรษของไทยและสหรัฐฯ เดินหน้า เปิดกว้างเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ย้ำความเป็นพันธมิตรเกือบ 2 ศตวรรษของไทยและสหรัฐฯ เดินหน้า เปิดกว้างเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

วันนี้ (20 กันยายน 2566) เวลา 19.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ โรงแรม St. Regis นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) โดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN business Council: USABC) และหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระสำคัญอันหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐาน (platform) ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของเราเข้าด้วยกัน ไทยและสหรัฐฯ ถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (natural and mutually-beneficial partners) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแม้จะมีการแพร่ระบาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (65 billion dollars) ในปีผ่านมา ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นที่มีอยู่ระหว่างกันอย่างชัดเจน ในขณะที่การลงทุน ต่างฝ่ายต่างมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพอีกมาก และจะเดินหน้าเพิ่มพูนศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขัน และทวงคืนตำแหน่งการจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำ การเป็นกลไกการเติบโตในภูมิภาค และเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับคุณภาพการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมกันอีกครั้ง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงนโยบายสำคัญ และโอกาสมากมายสำหรับบริษัทสหรัฐฯ ทั้ง (1) การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” (high gear) อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น (2) การบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (3) การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต (an “Innovative, Inclusive and Integrated (3Is) Thailand”) อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น” และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำให้สังคมไทยดีขึ้น รวมถึงชุมชนธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้สำหรับห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย หลากหลาย และยืดหยุ่นของสหรัฐฯ และเชื่อมั่นถึงความไว้วางใจ และการสนับสนุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ในฐานะตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง (key agents of change) เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งร่วมกัน และขับเคลื่อนอนาคตไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น