xs
xsm
sm
md
lg

“กรมบังคับคดี” ปลื้ม !โพลชี้ปชช.เชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดีพิ่มสูงขึ้นกว่าปี65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กรมบังคับคดี” เผยโพลปชช.เชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดี ปี66 พบเพิ่มสูงขึ้น 9.20 คะแนน เทียบปี65 ได้ 9.11 คะแนน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับ รศ. พ.ต.อ.หญิง ดร.กัญญ์ฐิตา ศรีภา หัวหน้าโครงการสำรวจ ดร.สาลินี ขจรไพร ผู้วิจัย และคณะผู้วิจัย บริษัท พีเอเอส คอนซัลแทนท์ แอนด์ รีเซิร์ช จำกัด แถลงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยผลจากการสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ย 9.20 คะแนน เชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีค่าเฉลี่ย 9.11 คะแนน
นางทัศนีย์ แถลงว่า ภารกิจหลักของกรมบังคับคดี มีภารกิจด้านการบังคับคดีแพ่ง คดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชีการวางทรัพย์และการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทชั้นบังคับคดีภายหลังคำพิพากษาเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง โดยดำเนินการตามขั้นตอนและตามกฎหมายให้ความเป็นธรรม โปร่งใส และอำนวยความสะดวกแก่คู่ความทุกฝ่ายในคดี รวมถึงประชาชนผู้รับบริการตามแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ของกรมบังคับคดี และกำหนดยุทธศาสตร์ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

“เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาองค์การ โดยสานต่องานเดิมสร้างเสริมงานใหม่ผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ ภายใต้ ChangeBetter to Be LED 5G+ ต่อยอด สร้างสรรค์เน้นคุณค่า อย่างยั่งยืน ดังนั้น การนำความคิดเห็นจากผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสียนำมาพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลของงานราชการและการบริการประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนการปรับปรุงการให้บริการดียิ่งขึ้น โดยเน้นประชาชนเป็นหลัก จึงได้มีการสำรวจการวิจัย โครงการสำรวจความคิดเห็นนี้” อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าว

ด้าน รศ. พ.ต.อ.หญิง ดร.กัญญ์ฐิตา เปิดเผยว่า การวิจัยสำรวจในครั้งนี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของกระบวนการบังคับคดีให้ครอบคลุมใน 6 กระบวนการ ได้แก่ 1.กระบวนการบังคับคดีแพ่ง 2.กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย 3.กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 4.กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี 5.กระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด และ 6.กระบวนการวางทรัพย์ และสำรวจการรับรู้ การใช้และความพึงพอใจของเครื่องมือที่กรมบังคับคดีได้จัดทำขึ้น โดยผลการสำรวจดังกล่าวเก็บจากกลุ่มประชากรเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 3,680 รายทั่วประเทศ โดยใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลทั้งสำรวจด้วยแบบสอบถาม สัมภาษณ์เชิงลึก และจัดสนทนากลุ่ม

รศ. พ.ต.อ.หญิง ดร.กัญญ์ฐิตา กล่าวอีกว่า สำหรับผลการสำรวจภาพรวมประชาชนเชื่อมั่นและพึงพอใจ มีค่าคะแนนดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา สรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี ค่าเฉลี่ย 9.2 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม ค่าเฉลี่ย 9.2 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง ค่าเฉลี่ย 9.18 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย ค่าเฉลี่ย 9.16 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ค่าเฉลี่ย 9.22 มีความความเชื่อมั่นต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ค่าเฉลี่ย 9.2 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด และค่าเฉลี่ย 9.24 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการวางทรัพย์

รศ. พ.ต.อ.หญิง ดร.กัญญ์ฐิตา กล่าวต่อว่า ส่วนความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี ค่าเฉลี่ย 9.36 มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม ค่าเฉลี่ย 8.98 มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง ค่าเฉลี่ย 8.96 มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย ค่าเฉลี่ย 9.48 มีความพึงพอใจต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ค่าเฉลี่ย 9.56 มีความพึงพอใจต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ค่าเฉลี่ย 9.58 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด และค่าเฉลี่ย 9.54 มีความพึงพอใจต่อกระบวนการวางทรัพย์

รศ. พ.ต.อ.หญิง ดร.กัญญ์ฐิตา กล่าวด้วย จากผลการสำรวจพบการดำเนินงานที่เป็นจุดเด่น คือ นโยบายชัดเจน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580) ยึดหลักกฎหมาย ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และจิตบริการ เน้นคุณภาพการบริการ ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้รับบริการเชื่อมั่นและพึงพอใจ นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนกระบวนงานตามภารกิจหลักและระบบ Back office เน้นประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง และประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา มีกระบวนการบังคับคดีที่ช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นและผู้มีส่วนได้เสีย


กำลังโหลดความคิดเห็น