xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลโยนฝ่ายมั่นคงแจงต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จชต. ชี้ แนวโน้มดี “สมศักดิ์” ไม่รู้ “แม้ว” พักโทษ หนุนปราบยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย แนวโน้มต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จชต. คลี่คลาย โยนฝ่ายมั่นคงแจง “สมศักดิ์” ชี้ ยกเลิกหมดไม่ได้ หนุน “เศรษฐา” ปราบยาเสพติด ยังไม่ได้ยินขอพักโทษ “ทักษิณ” แจงแก้ รธน.- ยุบสภา คนละเรื่อง เชื่อแบ่งงาน ก.เกษตรฯ ไร้ปัญหา

วันนี้ (18 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพิจารณาขยายเวลาบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ตนไม่อยากแถลงอะไรมากมาย เพราะฝ่ายความมั่นคงจะแถลงเองภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนตนสามารถพูดได้ตอนนี้เพียงว่า ทิศทางของเรื่องนี้ จะดำเนินไปในทิศทางที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ส่วนคำว่าดีกว่าเดิม แล้วจะดีขนาดไหน ไม่สามารถตอบที่นี่ได้ ตอบได้แค่ว่าอยู่ในที่ทางที่ดีขึ้น ขอให้รอฟังจากฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้แถลง

ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขยายอายุพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า ในฐานะที่ตนเป็นรองนายก กำกับดูแลงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้น ก็ต้องขอบอกว่า ศอ.บต. ไม่ได้กำกับดูแล รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง แต่เป็นเรื่องของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ เพียงทราบว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เพื่อดูแลพื้นที่ ที่ไม่ราบรื่น และอยู่ในการดูแลของ เรื่องความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ 22 พื้นที่ และการประชุม สมช.ครั้งที่ผ่านมา ก็ได้มีมติยกเลิกพื้นที่ ไปอีกหนึ่งอำเภอ ในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ดังนั้นจึงเหลือพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ 21 อำเภอ ดังนั้นจึงมีสถานภาพดังเดิมก่อน แม้ตนไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงแต่ก็ได้ติดตามในรายละเอียดว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นงานด้านความมั่นคงตามปกติ ไม่ได้เกี่ยวกับ ศอ.บต.แล้วคงค่อยๆ เลิกไปในสถานการณ์ต่อไปในวันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ทุกๆ สามเดือนก็จะพิจารณากันครั้งหนึ่ง แต่จะยกเลิกพื้นที่ทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือปี 2548 ที่ได้ยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด แล้วมี พ.ร.ก.ดังกล่าวมาใช้แทน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะรองนายกฯ กำกับดูแลงานกระทรวงยุติธรรม ได้มีการพิจารณาขอพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ยิน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าว เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นตนไม่ทราบ ซึ่งตนกำกับดูแลงาน ไม่ใช่เป็นคนสั่งการ เป็นเพียงผู้กำกับดูแล เรื่องที่แต่ละกระทรวงจะเสนอเอกสารมา เพื่อให้เข้า ครม.นั้น หรือมีคณะกรรมการที่ตนได้รับมอบอำนาจ ให้ทำหน้าที่ประธานประชุมนั้น จึงจะประชุม แต่ขณะนี้ยังไม่มีอะไรทั้งสิ้น

ถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า หากรัฐบาลชุดนี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะยุบสภาทันที นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ กับการบริหารงานของรัฐบาล ทุกคนคงไปตีเวลาของการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ใช้เวลา 2-3 ปี แล้วมาคำนวณการใช้เวลาทำงานของรัฐบาล ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีกำหนดไทม์ไลน์ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้นอาจจะใช้เวลาทั้งหมด แล้วเอาเวลาทั้งสองเรื่องมาเปรียบเทียบกัน แล้วพูดสองเรื่องสามเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่ามันคนละเรื่องกัน ตนจึงไม่สามารถไปคำนวณเวลาดังกล่าวได้ ตรงนี้อาจจะเป็นการวิจารณ์เพื่อให้เป็นประเด็น ที่ประชาชนฟังแล้วอาจเกิดความสับสนมากกว่า

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านพยายามทวงถามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ประกาศไว้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง ให้เขาได้พูดคุยกันไป เราเป็นฝ่ายบริหาร ขอทำหน้าที่และรับผิดชอบงานฝ่ายบริหาร และตอบคำถามได้เพียงเท่านี้

เมื่อถามว่า ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง มองว่า การแบ่งงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีกันอยู่สามพรรคและไม่ลงตัวอย่างไรบ้าง นายสมศักดิ์กล่าวว่า การแบ่งงานในกระทรวงที่มีรัฐมนตรีช่วยส่วนใหญ่มักจะมีข่าวสารออกมาในลักษณะนี้ แต่สุดท้ายคงต้องตกลงกันให้ได้ด้วยดี เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นการเริ่มต้นของการทำงาน ก็มักจะมีปัญหาดังกล่าว ขอให้ค่อยๆ พูดค่อยๆ คุยกัน ก็คงจะไม่มีอะไร

เมื่อถามถึงกรณีที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เน้นเรื่องการปราบปรามยาเสพติดมาแล้ว มองอย่างไรต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจัง กับการปราบปรามยาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอเรียนว่า เรื่องยาเสพติด ตนดีใจมากที่นายกฯ เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และตนคิดมาตลอดว่า ปัญหายาเสพติดในระดับรัฐมนตรี ทำคนเดียวไม่สำเร็จแน่ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้พร้อมกันสี่ขา ขาที่หนึ่งคือ ป.ป.ส. ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทวงยุติธรรม ขาที่สองพนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งกำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องการยึดทรัพย์เป็นกำลังสำคัญหลัก ถือเป็นกฎหมายฉบับที่สำคัญ ขาที่สามคือตำรวจ ที่จะเป็นฝ่ายจับและสืบสวน สอบสวนขยายผล ขาที่สี่เป็นเรื่องสรรพากร และกฎหมายที่จะเข้ามาดำเนินการภายหลังการตรวจสอบทรัพย์สิน ดังนั้นหากผู้ค้ายังรอดจากการยึดทรัพย์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการของกระทรวงการคลังในเรื่องของภาษี ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน รวมกันทั้งหมด ตนจึงมีความสุขมากที่เห็นนายกรัฐมนตรีนำเรื่องนี้มาทำอย่างจริงจัง


กำลังโหลดความคิดเห็น