วันนี้(12 ก.ย.)ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าหลังจากได้อ่านนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา แล้วพบข้อความตอนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลของนายเศรษฐา มีเจตนารมณ์ที่ใส่ใจกับปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศชาติ และประชาชน ที่ระบุว่า “ข้อกฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองกลายเป็นต้นเหตุของอุปสรรคปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สินบน อาชญากรรม การหลอกลวงฉ้อฉล การพนัน และยาเสพติดที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความสิ้นหวังของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองและระบบราชการของประเทศไทย” (อ้างอิงใน https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D221S0000000000100.pdf) ซึ่งข้อความที่ประกาศนี้จับต้นตอของความเสื่อมศรัทธา และปัญหาความไม่มั่นคงของชาติ และความไม่ปลอดภัยของประชาชนได้อย่างตรงเป้า แต่ขาดการยึดโยงไปยังยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลของนาย เศรษฐา ทวีสิน เป็นการแถลงนโยบายที่ไม่เชื่อมโยงต่อต้นเหตุแห่งปัญหาที่กล่าวอ้างไว้ว่าข้อกฎหมายไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมือง
ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า แต่หลังจากที่ได้อ่านนโยบายรัฐบาลฉบับนี้แล้วจะพบว่า นโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ที่แถลงต่อรัฐสภาเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์มีอยู่เพียงจุดเดียวในหน้าที่ 12 ของราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษ 221 คำแถลงนโยบาย ของ คณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 ก.ย.2566 โดยไม่มีการเชื่อมโยงกับข้อกฎหมายที่ต้องทำให้ทันต่อยุคสมัยโลกดิจิทัล จึงยังไม่ปรากฏให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลฉบับนี้ทันยุคทันสมัยตรงไหน ข้อเท็จจริงคือ รายงานผลการศึกษาทั่วโลกพบว่า คนไทย 61.2 ล้านคนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต และกว่า 52.25 ล้านคนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย มีการเชื่อมโยงการใช้มือถือกว่า 101.2 ล้านเครื่องเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ยังถูกใช้อยู่ในเวลานี้ (อ้างอิงใน https://datareportal.com/reports/digital-2023-thailand) และอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นต่อความไม่ปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่โดนกันแบบซ้ำซากเช่นข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหลุดรั่ว จนก่อผลกระทบทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความไม่มั่นคงของชาติ เห็นได้ชัดจากการยุยงปลุกปั่นสร้างกระแสสั่นคลอนเสาหลักของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน ในโซเชียลมีเดีย ปัญหามิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวง ล่อลวง เป็นต้น ดังนั้น ความปลอดภัยในหมวดความปลอดภัยของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาควรจะมีเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่ในนโยบายให้ปรากฏเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนอย่างชัดเจน
ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่ออ่านในหมวดของ ความปลอดภัย ในนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา สิ่งที่พบมีแต่เรื่อง ยาเสพติด การยึดทรัพย์ และอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไม่มีส่วนใดในหมวดนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาเดือดร้อนของประชาชนบนโลกออนไลน์ และไม่มีส่วนใดของนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ที่น่าจะมีสิ่งใหม่ ๆ ด้านข้อกฎหมายให้ทันยุคทันสมัยโลกโซเชียลยุคดิจิทัลด้วย อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่า นโยบายรัฐบาลที่ได้อ่านนั้น พบว่า นโยบายรัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภานี้ไม่มีอะไรใหม่ในหมวดความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน และความมั่นคงของชาติ นโยบายรัฐบาลชุดนี้จึงน่าจะออกแบบนโยบายด้านความปลอดภัยได้ดีกว่านี้ ให้ทันยุคทันสมัยตามที่กล่าวอ้างไว้ในตอนต้นของนโยบาย ซึ่งตามตำรานโยบายที่ดี กล่าวไว้ว่า นโยบายที่ดีต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมทันยุคทันสมัยและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ
อย่างไรก็ตาม จึงเสนอให้นำนโยบายรัฐบาลนี้ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ทันสมัย และยุทธศาสตร์ชาติ มาช่วยป้องกันแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน และความไม่มั่นคงของชาติ นำอุบัติการณ์ (Incidents) เสาหลักของชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ที่ถูกสั่นคลอน และความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในโลกไซเบอร์มาแปลงสู่การปฏิรูปกฎหมาย มีระบบราชการที่ดี และมีมาตรฐานสากลของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่นานาประเทศเขามีมาตรฐานกลางและกฎหมายดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่ เช่น NIST ของสหรัฐอเมริกา GDPR ของสหภาพยุโรป และ ISO 27001 เป็นต้น โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันนำโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา น่าจะนำไปปรับประยุกต์ใช้เข้ากับประเทศไทยให้สำเร็จเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้