เสาหลักปชป.ยินดีนายกฯ "เศรษฐา" กรีดไม่โหวตให้เพราะมาจากพรรคที่เลือกปฏิบัติ รับคุณสมบัติไม่ด้อย แนะอย่าล้ำเส้น-โกง-หนีตปท. ชี้ซื่อสัตย์ยังไม่ประจักษ์ดูนโยบายจากผู้ปฏิบัติ ขอชดเชยคนใต้หลังถูกเลือกปฏิบัติมานาน ยกไฟใต้ดับเพียบดับแต่ไร้แผนแก้ เจ้าตัวแจงบริหารเท่าเทียมทุกพื้นที่ เสียใจไฟใต้ เตรียมลุยโครงการสนามบินภูเก็ตแม้ไร้ส.ส.พื้นที่
วันนี้ (13ก.ย.) นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา วาระอภิปรายนโยบายรัฐบาล ว่า กล่าวว่า ตนยินดีกับนายเศรษฐา ทวีสินนายกฯ เป็นการส่วนตัวแม้ตนไม่โหวตให้ในรัฐสภา เพราะมาจากพรรคที่เลือกปฏิบัติกับประชาชน และที่ผ่านมาได้รณรงค์และต่อสู้ทางการเมืองเพื่อไม่ให้พรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งและได้ผู้แทนในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้นการไม่โหวตให้เพื่อไม่ให้เป็นการหักหลังประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ดียอมรับว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30 ถูกตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้นหากรู้ประวัติทำอะไรไม่ดี เช่นระหว่างเรียนต่างประเทศ เคยทุจริตการสอบ ลักเล็กขโมยน้อย เชื่อว่าไม่มีละเว้น
นายชวน อภิปรายว่า หากพิจารณามาตรฐานของพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยที่เสนอตัวนายกฯ ยอมรับว่านายเศรษฐา คุณสมบัติไม่ด้อยกว่าบุคคลทั้ง 5 คนที่เคยเสนอเป็นนายกฯ หากจะให้เสนอแนะ คือ อย่าล้ำเส้น อย่าทุจริต อย่าหนีออกต่างประเทศ ทำอะไรที่มีปัญหาเมื่อพ้นตำแหน่ง ทั้งนี้ตอนนี้วัดไม่ได้ ว่า นายกฯ มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์หรือไม่ แต่การตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบายจากผู้ปฏิบัติถือว่าสำคัญ
“ผมขอแนะนำ คือ อย่าโกง ความซื่อสัตย์สุจริต ตามที่ท่านย้ำตอนท้ายว่า จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เมื่อนักธุรกิจทำการเมือง ทำให้ได้รับความไว้วางใจน้อยลงไป นักธุรกิจมาทำงานการเมืองไม่แปลก เป็นประโยชน์ แต่อย่าเอาผลประโยชน์ธุรกิจส่วนตัว กระทบกับประโยชน์ส่วนรวม ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี เมื่อได้นายกฯ คนนี้ เพราะเชื่อว่าจะเข้าใจคนที่ถูกเอาเปรียบ คนที่ถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้การเลือกปฏิบัตินอกจากขัดหลักประชาธิปไตย เราไม่ควรมองข้ามละเลย ผมเสนอให้ทบทวนเหตุการณ์ตามความเป็นจริง ชดเชยความเสียหายจากการเลือกปฏิบัติ” นายชวน กล่าว
นายชวน อภิปรายด้วยว่า เป็นโอกาสที่ดีที่นายกฯจะใช้วิจารณญาณ ทบทวนชดเชยความเสียหายให้พื้นที่ที่ถูกเลือกปฏิบัติ หลังสุด ตนทำหนังสือและบอกกล่าวด้วยวาจา ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ และรมว.กลาโหม ขอให้ทำถนนสายหนึ่งให้ภาคใต้ และท่านได้หาเสียงในจ.ภูเก็จว่าจะทำถนนคู่กับถนนหมายเลข4 ดังนั้นความชดเชยควรจะเกิด ขอให้นายกฯ ติดตาม ศึกษาความเป็นจริง ไม่ต้องเชื่อตนทั้งหมดและหาทางแก้ไข นอกเหนือจากจะทำในสิ่งที่ดีงามตามคำแถลงว่า ครม. ว่าจะสร้างความสามัคคีปรองดองที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย ทั้งนี้ความสามัคคีปรองดองเกิดได้ต้องเริ่มจากการไม่เลือกปฏิบัติ
นายชวนอภิปรายด้วยว่าตนขอให้ดูเลข คือ 7,520 คือ ตัวเลขของการสูญเสียชีวิตจากความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 - 2566 ทั้งนี้นโยบายรัฐบาลไม่มีประเด็นการแกัปัญหาชายแดนภาคใต้ในคำแถลงนโยบาย แต่มีในภาคผนวก คือ เป็นคำในยุทธศาสตร์ชาติที่ลอกมาลงไว้ ความสูญเสีย 1 คนยิ่งใหญ่ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสีย แม้จะย้ำเรื่องหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ไว้หลายจุดในนโยบายรัฐบาล แต่ไม่มีดีขึ้นหากไม่มีข้อมูลว่าจะแก้ปัญหาพื้นที่ด้วยวิธีใด แม้ปัญหาพื้นที่ภาคใต้จะเกิดขึ้นมานาน แต่การแก้ปัญหานั้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล
“ผมเชื่อว่านายกฯ ตั้งใจแก้ปัญหา แม้จะประเมินตัวเลขเรื่องลดตัวเลขผู้เสียชีวิตเท่าไร แต่ต้องทำ สิ่งที่แนะนำเมื่อเกิดวิกฤตในพื้นที่ คือน้อมนำพระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หากมุสลิมทำผิดต้องถูกตรวจสอบ ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐตัดสิน เหมือนในอดีตที่ทำนโยบายที่ผิดพลาด เมื่อ 8 เม.ย. 2544 ทั้งนี้หลังนายกฯ โปรดเกล้า พบว่าตำรวจน้ำดีในปัตตาเสียชีวิต 4 นาย ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องเน้นการพัฒนาพื้นที่และเข้าใจพื้นที่ ผมเชื่อว่าจะคลี่คลายปัญหาได้ ดังนั้นหากยึดมั่นการสุจริจ จะอยู่รอดปลอดภัย ตลอด 4ปี ไม่ติดคุก” นายชวน กล่าว
ด้านนายเศรษฐาชี้แจงว่า ตนขอน้อมรับโอวาทของนายชวนที่พูด แต่นายชวนคงไม่รู้จักดีพอ เพราะเรียกชื่อผิดตอนต้น ตนคือ เศรษฐา ไม่ใช่เชษฐา แม้เป็นนักธุรกิจมาก่อน ยืนยันว่า มาอยู่ตรงนี้รักประเทศชาติ ต้องการเห็นประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ตนมาด้วยหัวใจเปิดกว้าง ตั้งใจทำประโยชน์ให้ประเทศ ที่บอกว่า7,520ชีวิตที่เสียไปเป็นเรื่องที่ตนก็เศร้าใจก่อนที่จะเดินเข้าสู่สนามการเมือง อย่าว่าแต่7,520 ชีวิตเลย แม้แต่1 ชีวิตก็ถือว่ามากเกินไปแล้วสำหรับประเทศนี้ ตนมีความเห็นตรงกันว่าความสูญเสียไม่ควรจะเกิดขึ้น ส่วนวิธีการแก้ปัญหา หรือการเข้าใจในความลึกของปัญหาอาจจะต่างกัน หรือวิธีการที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปในอนาคต
นายเศรษฐากล่าวว่า ตนมั่นใจว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชนและพรรคร่วมอีก11 พรรค เราให้ความสำคัญกับความสงบสุขในพื้นที่ภาคใต้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเศรษฐกิจ การเลือกปฏิบัติก็เป็นข้อถกเถียงมานาน ก่อนที่ตนจะเข้ามาเล่นการเมืองก็ได้ยินนายชวน กล่าวถึงการเลือกปฏิบัติ แต่จะไม่ไปถกเถียง และน้อมรับข้อความที่ท่านพูดมา แต่ตนก็มีข้อมูลเช่นกัน ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยก่อนเกิดวิกฤตสึนามิ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ก็ได้ลงไปพื้นที่พร้อมกับขรก.และเอกชน โดยไปกินไปอยู่ที่นั่น ดูแลชาวภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียงเต็มที่จนได้รับเสียงชื่นชมจากชาวโลก
"การเลือกปฏิบัติต่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในประเทศไทยโดยผู้บริหารประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งไม่บังควร เราเป็นรัฐบาลที่มาจากประชนทั้งประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะมีส.ส.ในภาคใต้หรือไม่ก็ตามที เป็นความตั้งใจอันสูงสุดของผมในฐานะนายกฯต้องให้ความเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม กับคนไทยทุกคน โดยตั้งแต่ยังไม่ได้รับอำนาจเต็มที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน จังหวัดแรกที่ผมลงไปคือภูเก็ต แม้ว่าเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว ผมให้ความสำคัญกับภูเก็ตและภาคใต้ โดยการกระทำเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ดีกว่าคำพูด ว่ารัฐบาลนี้จะบริหารแผ่นดินอย่างไร "
นายเศรษฐกล่าวว่าอีก2 สัปดาห์ ตนก็จะลงไปตามงานโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินนานาชาติภูเก็ต โดยทีมงานมีการเสนอแนะมาว่าเพื่อมีความทั่วถึง เข้าถึง ไม่ควรใช้คำว่าสนามบนินานาชาติภูเก็ต อาจจะใช้คำว่าสนามบิน อันดามัน อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จะควบคุมไปถึงพังงา กระบี่ ระนอง ทั้ง4 จังหวัดไม่มีส.ส.เพื่อไทยอยู่เลยแม้แต่คนเดียว
"ผมขอยืนยันว่าการมาดำรงตำแหน่งนี้ วันนี้ ที่นี่ เจตนารมณ์ของผมชัดเจนว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี จะนำพารัฐบาลที่เป็นของประชาชนคนไทยทุกคน"นายเศรษฐากล่าว