“เศรษฐา” กังวล น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่พอทำนาปรัง ยืนยัน รัฐบาลของประชาชนให้ความสำคัญเรื่องเกษตร ปากท้อง ปชช.อีสาน รองนายก อบต.อวยเป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดในโลก เจ้าตัวเบรกยังไม่ขนาดนั้น
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาสมทบ ร่วมลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ และพบปะประชาชนที่อยู่ทั้งในพื้นที่ชลประทานและในพื้นที่นอกชลประทาน เพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาภัยแล้ง ผลกระทบจากเอลนีโญ่ พื้นที่ทำกิน และการบริหารจัดการน้ำ
โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จากเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและจังหวัด พร้อมกล่าวว่า วันนี้เรายังไม่ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มตัว แต่มารับฟังข้อมูล แล้วเมื่อแถลงนโยบายเสร็จแล้วได้เริ่มปฏิบัติการทันที ซึ่งวันนี้ พล.ต.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 2 มาด้วยและเข้าใจปัญหาของพี่น้องประชาชนดี ซึ่งกองทัพมีบทบาทที่จะช่วยเหลือประชาชนในแง่ของภัยแล้ง และวันนี้ตนได้ฟังบรรยายการสรุปของกรมชลประทานก็ยอมรับว่ามีความกังวลเพราะปริมาณน้ำในเขื่อนลดน้อยลง และหากจบฤดูฝนก็คาดว่าน่าจะมีน้ำน้อย การทำข้าวนาปรังไม่แน่ใจว่าจะได้ทำได้หรือไม่ ยกเว้นจะโชคดีฝนตกมาเยอะกว่ากำหนด ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รายงานว่าจะควบคุมได้ภายใน 3 วัน แต่ก็ต้องลงไปดูอีกทีนึงว่าจะได้รับความเสียหายมากน้อยอย่างไร ฝนก็ยังคงตกอยู่ภาวะท่วมก็ต้องดูว่ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ถ้ามีสิ่งกีดขวางก็ต้องกำจัดออกไป ปริมาณน้ำในเขื่อนทุกเขื่อน ในภาคอีสานก็ยังน้อยอยู่ แต่ก็ยังมีการจัดการบริหารที่ดี น้ำที่ใช้เยอะที่สุดคือเรื่องเกษตรเป็นเรื่องของปากท้องพี่น้องประชาชนภาคอีสาน ที่รัฐบาลมาจากประชาชน ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด โดยในระยะสั้น เรื่องของการทำฝ่ายซอยซีเมนต์ หรือลอกคลองขจัดวัชพืช ที่ขอความกรุณาจากว่าที่แม่ทัพว่าถ้าคนของกรมชลไม่พอก็ขอให้มาช่วย
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ยอมรับว่า ตนเองมาจากภาคธุรกิจ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการเกษตร เพราะเรามีเกษตรกรเป็นหลาย 10 ล้านคน ภาครัฐบาลมีงบประมาณอยู่เยอะ ปีนี้อาจจะลำบากหน่อย แต่ปีงบประมาณปีหน้าอาจจะมีมากขึ้น และตนเชื่อว่าในอนาคต เงินทุกบาท ทุกสตางค์ที่ลงไปในทุกพื้นที่ท่วมและพื้นที่แล้ง ถ้ารัฐบาลของประชาชนทำให้ไม่ท่วมไม่แล้งลงทุนเท่าไหร่ไป ก็จะก่อให้เกิดรายได้รวมในประเทศ ไม่ใช้ไปช่วยซื้อสินค้าไฮเทคจากต่างประเทศไปช่วยให้ประเทศอื่นมั่งคั่ง แต่แน่นอนอาจจะมีบ้าง แต่รัฐบาลของประชาชนมั่นใจว่าการพัฒนาด้านการเกษตร ดังนั้น เชื่อว่า การลงทุนทางด้านการเกษตรเช่นโครงการโขง ชี มูล เลย การสร้างฝาย ในพื้นที่ชลประทานให้เยอะขึ้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด แต่ตอนนี้ต้องให้ความ สำคัญกับระยะสั้นคือหน้าฝนจะหมดลงไปแล้ว ต้องอาศัยกำลังจากกองทัพ ซึ่งตนได้ประสานกับผู้บัญชาการทหารบก และได้รับการยืนยันว่าจะได้รับความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ที่จะใช้งบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาช่วยเรื่องฝายซอยซีเมนต์ ลอกคูคลอง ช่วยให้บรรเทาปัญหาระยะสั้น
พร้อมยืนยันรัฐบาลที่มาจากประชาชนให้ความสำคัญกับน้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง และให้มั่นใจว่าเรื่องนี้เราดูแลอย่างเต็มที่
จากนั้นก็ได้รับฟังปัญหาจากประชาชน ส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาล สนับสนุนศักยภาพของเขื่อนอุบลรัตน์ เพราะเชื่อว่าเขื่อนแห่งนี้สามารถกักเก็บน้ำและผลิตไฟฟ้า เพียงพอสำหรับคนในพื้นที่ได้แต่ไม่ได้รับงบประมาณที่เพียงพอ
ขณะที่ นายวรพนธ์ จันทรธีระยานนท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลภูเวียง กล่าวว่า นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดในโลกตั้งแต่เคยมีนายกมา ทำให้ นายเศรษฐา จึงทักท้วงขึ้นทันทีว่า อย่าเพิ่งถึงขนาดนั้น เพราะเพิ่งเป็นมาไม่กี่วันเอง
ขณะที่ชาวบ้านยังชื่นชมด้วยว่าเป็นดรีมทีมที่สุดยอดมาก และความหวังที่ดีที่สุดในวันนี้ต้อง ต้องขอบคุณกรมชลฯแก้ปัญหาเรื่องน้ำ พร้อมฝากถึงการแก้ปัญหาหนี้สิน และ ร้อยเอก ธรรมนัส ก็คือความหวังด้วยเช่นกัน