xs
xsm
sm
md
lg

ซักฟอกนโยบายเริ่ม ศึกต่างขั้ว พท.- ก้าวไกล!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุด เราก็จะได้เห็นการเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก ระหว่างพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “ศึกต่างขั้วใหม่” ก็ว่าได้ หลังจากทั้งสองฝ่ายมีการตัดเยื่อใย และก้าวสู่สภาพความเป็นจริงทางการเมือง นั่นคือ ความเป็น “คู่แข่ง” กันอย่างชัดเจน และเริ่มต้นนับตั้งแต่ศึกอภิปรายนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11-12 กันยายน นี้ โดยจะเป็นการประชุมรัฐสภา แต่ที่ต้องจับตา ก็คือ บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคก้าวไกลเป็นหลัก ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) โดยมีตัวแทนจาก ส.ว. ส.ส. และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ตัวแทน ครม. นายวิสุทธิ์ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน มีนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ และ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทน ส.ว.นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ ส.ว. เป็นต้น เพื่อหารือวางกรอบเวลาการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาและแบ่งสัดส่วนเวลาของแต่ละฝ่าย ซึ่งใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นผ่อนปรนไปมา เพื่อให้การประชุมเรียบร้อย โดยการประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11-12 กันยายน รวมทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น ประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง ฝ่าย ครม.แถลง และชี้แจง 5 ชั่วโมง ฝ่าย ส.ว. 5 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ทั้งนี้ คิดว่า คงเพียงพอในการที่ทุกฝ่ายจะปรับเวลาที่ชัดเจนให้เป็นไปตามจำนวนคน คาดว่า คงไม่เกินในเวลาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมจบด้วยดี ไม่มีใครไม่ยอม แม้ทุกฝ่ายจะอยากได้เวลา แต่เมื่อทราบข้อจำกัดของเวลา และความสนใจของพี่น้องประชาชนแล้วจึงตกลงกันเช่นนี้

“การประชุมทั้ง 2 วัน คาดว่า ในวันแรกอาจจะเลิกประชุมดึก แต่คงไม่เกินเที่ยงคืน และวันที่สอง คงไม่เกิน 23.00 น. แม้บางฝ่ายจะบอกว่าไม่อยากให้เกิน 21.00 น. แต่เพื่อให้การอภิปรายในวันถัดมามีคุณภาพมากขึ้นและความสนใจของพี่น้องประชาชน รวมถึง ครม.แจ้งว่า ในวันที่ 13 ก.ย.จะมีการประชุม ครม.ทุกฝ่ายจึงบอกว่าจะกลับไปเตรียมทั้งตัวบุคคลและเนื้อหาสาระให้ดีเพื่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ถามว่า อยากฝากอะไรถึงฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านอยากใช้เวทีนี้ในการซักฟอกรัฐบาล นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันเองว่า จะอยู่ในกรอบของการอภิปรายเรื่องนโยบายและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนคิดว่า ฝ่ายค้านตอนนี้เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ มีข้อมูลพร้อมที่จะอภิปรายในกรอบกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงความสนใจของพี่น้องประชาชน

ขณะที่ นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเพียงการติชมนโยบายเท่านั้น ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายครั้งนี้กว้างไป นายอดิศร กล่าวว่า ให้เป็นการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม จะติชมอย่างไรก็ว่ากันไป

“คงไม่ต้องเตรียมองครักษ์อะไร เป็นการแถลงนโยบายเฉยๆ เพราะเรายังไม่ได้ทำอะไร ส่วนจะใช้เวทีนี้เป็นการซักฟอกกลายๆ หรือไม่ คิดว่าคงมีบ้าง หากจะแวะเข้ามาในซอยบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ต้องรีบกลับขึ้นไปถนนหลวงซึ่งการอภิปรายนโยบายบางคนอภิปรายโดยไม่มีประสบการณ์คิดว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมก็ขอให้รออีกสักหน่อย 4-5 เดือน ค่อยว่ากัน แต่อาจจะมีล้ำ เส้นบ้างเป็นธรรมดา ทั้งนี้ ย้ำว่า หากการแถลงนโยบายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดแล้ว แถลงเสร็จก็กลับบ้านได้เลย แต่เราเห็นว่าจะเคร่งครัดเกินไป จึงเห็นว่าถ้อยทีถ้อยอาศัยดีกว่า จะเป็นการเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายมีความสุข” ว่าที่ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล ระบุ พร้อมเตือนว่าอย่าใจฮึกเหิมมาก เอาแต่พอดี

เมื่อฟังจากประธานรัฐสภา คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ถึงการกำหนดวันประชุมเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาสรุปออกมาหลังการประชุม ก็คือ ใช้เวลา 2 วัน ซึ่งรายละเอียดว่าฝ่ายไหนได้เวลาในการอภิปรายกี่ชั่วโมง ก็ตามนั้น แต่สิ่งที่ต้องจับตา ก็คือ นี่คือ การ “เผชิญหน้า” กันครั้งแรก และเป็นทางการระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่หรือจะเรียกว่า “ต่างขั้วใหม่” นั่นคือ พรรคเพื่อไทย ฝ่ายรัฐบาล กับ พรรคก้าวไกล ที่ต้องรับบทฝ่ายค้าน อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก

หลายคนจึงจับตามองว่า ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลคราวนี้ พรรคก้าวไกลจะสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นหรือไม่ หรือสมกับที่ “สร้างราคา” ให้ตัวเองไว้ล่วงหน้าหรือไม่ แม้ว่าการอภิปรายนโยบายรัฐบาล จะไม่เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่อาจล้มรัฐบาลได้ก็จริง เพราะเป็นเพียงแค่การติชมเท่านั้น ไม่มีการลงมติ แต่อย่างไรก็ดีมันก็สามารถเห็นแววได้เหมือนกันว่า แต่ละฝ่ายมีการเตรียมการ มีการซักถามถึงข้อสงสัยแทนประชาชนได้ดีแค่ไหน ที่สำคัญ เป็นลักษณะการอภิปรายแบบมืออาชีพ เป็นฝ่ายค้านในยุคใหม่ได้หรือไม่ หลังจากถูกมองว่า ส.ส.ก้าวไกล ส่วนใหญ่ล้วนเป็น “มือใหม่” ไร้ประสบการณ์ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ที่ต้องจับตา ก็คือ การอภิปรายนโยบายรัฐบาลคราวนี้ จะถือว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง “สองขั้วใหม่” อย่างเป็นทางการ เพราะนอกเหนือจากการที่ทั้งสองพรรค คือ เพื่อไทย กับก้าวไกล จะทำหน้าที่ต่างบทบาท คือ ฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายค้านแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม เวลานี้ถือว่าทั้งสองพรรคดังกล่าวกลายเป็น “คู่แข่ง” ทางการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว

หากสังเกตปฏิกิริยาแต่ละฝ่ายทำให้เห็นแนวโน้มการอภิปรายในสภา และนอกสภา น่าจะร้อนแรงชนิดที่เรียกว่า “เกินเบอร์” ก็เป็นไปได้สูง เพราะเมื่อพิจารณาจากท่าทีและคำ พูดจากแต่ละฝ่ายที่เริ่มรุนแรง มีการเหน็บแนมเร่งเร้าเข้มข้นขึ้นทุกทีไม่เว้นแม้แต่ผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย แม้ว่าหากโฟกัสกันเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน คือ ก้าวไกล ที่คราวนี้ก็ยังไม่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรค ที่ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.อยู่ก็ตาม ทำ ให้ต้องรอดูว่ายังมีคนอื่นที่ยังพอเป็น “แม่เหล็ก” ทดแทนกันได้หรือเปล่า

แต่เอาเป็นว่า นอกเหนือจากการเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่าง “สองขั้วใหม่” ดังกล่าวแล้ว การอภิปรายนโยบายรัฐบาลคราวนี้ ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายคือ เพื่อไทย และ ก้าวไกล จะมีคุณภาพในแต่ละบทบาทของตัวเองแค่ไหน เพราะขณะที่พรรคเพื่อไทย เพิ่งจะเป็นรัฐบาลครั้งแรกหลังจากห่างหายเกือบสิบปี ขณะที่พรรคก้าวไกลก็เพิ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านแบบเต็มตัวครั้งแรก มองอีกมุมมันก็เหมือนกับการซ้อมใหญ่ ที่มีเดิมพันข้างหน้าสูงพอกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น