วันนี้ (7 ก.ย.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) คว้า 3 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ โครงการแก้ปัญหานิเวศทางทะเล ชายหาดบางแสน ของสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 โครงการป่าในเมืองกระบี่ ของสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 และรางวัลระดับดี ได้แก่ ร่วมใจชุมชนชายฝั่งจัดการขยะแบบครบวงจร ของสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3
โดยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เป็นผู้แทนกรม ทช. เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ประธานในพิธีมอบรางวัลฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เข้ารับรางวัลฯ กว่า 238 รางวัล
ในการนี้ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีคณะผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานและร่วมแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัล ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายอภิชัย เอกวนากุล (รรท.อทช.) กล่าวว่า ในนามผู้แทนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่กรม ทช. ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้แก่หน่วยงาน นอกจากนี้ ทช. ยังมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ พร้อมยกระดับคุณภาพ การให้บริการที่ประสบผลสำเร็จ และสามารถสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการให้เป็นระบบราชการที่ยึดหลักธรรมภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (Good Govemance for Better Life) จึงเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นว่าผลการทำงานของหน่วยงานของรัฐเป็นที่ยอมรับ และเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการว่าสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการให้บริการและระบบการบริหารของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการเปิดระบบราชการ ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการตั้งแต่ระดับการให้ข้อมูล (Inform) การให้คำปรึกษาหารือ (Consult) การเข้ามามีบทบาท (Involve) และในระดับความร่วมมือ (Collaborate) ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่มีนัยสำคัญหรือผลกระทบสูง (High Impact) กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงาน
ซึ่งกรม ทช. ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบราชการ โดยมีการกำหนดแนวทางหรือมาตรการต่างๆ ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 3/ 1 ให้การบริหารราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ ได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดเป้าหมายของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ซึ่ง กรมฯ ยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าวฯ มาโดยตลอดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานราชการที่ทำงานแบบมีส่วนร่วม และแบบบูรณาการร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสา ชุมชนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานได้ดีเสมอมา จนเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ อย่างชัดเจน ในเรื่องของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะพัฒนาคุณภาพการให้บริการ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการให้บริการและระบบการบริหารของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพต่อไป "นายอภิชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย"