xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการฯ ถกรับมือน้ำท่วมแจ้ง ถ.วัฒนะ-ศรีนครินทร์ แนะทุกหน่วยร่วมบูรณาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดประชุมหาทางออกรับมือน้ำท่วมถ.แจ้งวัฒนะ-ถ.ศรีนครินทร์ แนะทุกหน่วยร่วมบูรณาการแก้ปัญหาไปไหนทางเดียวกัน

วันนี้(29 ส.ค.)นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมหารือร่วมกับกรมทางหลวง กรมชลประทาน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วมภายหลังฝนตกหนัก ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง หลังการประชุมนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากมีประชาชนยื่น่ร้องเรียนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ตามแนวถนนที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง เนื่องจากเมื่อมีฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงในพื้นที่ดังกล่าว ระดับน้ำตามแนวถนนจะสูงมากจนทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ ส่งผลให้การสัญจรบนถนนแจ้งวัฒนะและถนนศรีนครินทร์ติดขัดเป็นเวลานาน ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำฝนในปริมาณมาก ประกอบกับสภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีความแออัด ปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน ระบบระบายน้ำที่ยังไม่เพียงพอ พื้นที่รองรับน้ำไม่เพียงพอ ปัญหาขยะและสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ ประกอบกับในปัจจุบันได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายพื้นที่ จึงทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจึงควรหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือก่อนถึงช่วงที่ฝนจะตกหนักในเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบปัญหาอุปสรรคในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังภายหลังฝนตกหนักในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะและถนนศรีนครินทร์ แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1. ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ที่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงยังมีระบบการประสานงานที่ไม่ชัดเจน จึงทำให้เกิดปัญหาในการประสานงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่

2. ปัญหาด้านการดูแลระบบระบายน้ำในขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ 3. ปัญหาการทรุดตัวของถนน ทั้งการยุบตัวของถนนหรือยุบเป็นโพรงใต้ผิวจราจร ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังฝนตกหนัก 4. ปัญหาระบบระบายน้ำทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีระบบไฟฟ้าสำรองในกรณีที่เกิดสถานการณ์ไฟฟ้าดับ และ 5. ปัญหาทางระบายน้ำตามธรรมชาติถูกปิดกั้นด้วยสิ่งปลูกสร้าง วัชพืช และขยะ โดยเฉพาะในคลองรับน้ำหลัก ซึ่งพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ คลองรับน้ำหลักคือ คลองบางพูด และคลองบางตลาด ซึ่งความกว้างด้านท้ายของคลองบางตลาดมีลักษณะค่อนข้างแคบกว่าช่วงต้นคลอง ในช่วงเวลาที่ฝนตกเป็นเวลานาน อาจทำให้การระบายน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ทัน


สำหรับในพื้นที่ถนนศรีนครินทร์ คลองรับน้ำหลัก คือ คลองบางนา และคลองสำโรง ซึ่งคลองบางนาจะมีสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแล สำหรับคลองสำโรง จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรปราการเป็นผู้ดูแล ซึ่งปัญหาการถูกปิดกั้นด้วยสิ่งปลูกสร้าง วัชพืช และขยะ จะทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นว่าจำเป็นต้องเตรียมรับมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก่อนที่จะถึงช่วงที่ฝนตกหนักในเดือนก.ย.66 จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายเหลือง มาปรึกษาหารือเพื่อรับทราบถึงแนวทางที่แต่ละหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมกันอยู่แล้วในการป้องกันน้ำท่วมภายหลังฝนตกหนักที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงแนวทางการเสนอแนะเพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้นำไปเพิ่มเติมหรือนำไปเสริมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวในปีต่อ ๆ ไปด้วย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1. ด้านการบริหารจัดการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ควรมีการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกัน โดยมีแผนงานที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในระยะที่โครงการรถไฟฟ้ายังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เห็นว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกรุงเทพมหานคร ควรจัดทำแผนปฏิบัติการโดยละเอียดว่าแต่ละหน่วยงานมีแผนในการป้องกันน้ำท่วมอย่างไร โดยกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของแผนดังกล่าว และจัดส่งแผนให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบ รวมทั้งควรเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบความพร้อมของระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามแผนปฏิบัติการของทุกหน่วยงานหรือไม่ รวมทั้งควรมีการซักซ้อมแนวทางการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหา โดยจัดให้มีกลุ่มประสานงานผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีความมั่นใจต่อการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที


สำหรับระยะยาว เมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสิ้น ขอให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานหลักในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบแผนปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของทุกหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ในปี 2567 และในปีต่อ ๆ ไปว่า เพียงพอต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปีนั้น ๆ หรือไม่ อย่างไร

2. ด้านการดูแลระบบระบายน้ำในขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ ขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้ผู้รับสัมปทานจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ โดยมีรายละเอียดว่าในแต่ละกิจกรรมจะดำเนินการเมื่อใด จากบริเวณใดถึงบริเวณใด และจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด รวมทั้งกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการนำเศษวัสดุ หรือขยะ ออกจากท่อระบายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วม ควรพิจารณาเพิ่มความถี่ในการลอกท่อ ทำความสะอาดเก็บขยะ ดูดโคลน เลน ทราย และนำเศษวัสดุที่ตกลงในท่อระบายน้ำออก ทั้งในช่วงเวลาก่อนฝนตก และหลังฝนตก เนื่องจากเมื่อฝนตก น้ำฝนจะพัดพาขยะ โคลน เลน หรือทราย มาอุดตันหรือกีดขวางท่อระบายน้ำได้อีก โดยเมื่อมีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำแล้วเสร็จควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อเพิ่มการรับรู้และความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วย และขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจัดให้มีระบบการรับแจ้งเหตุจากประชาชนผู้ใช้ถนนเมื่อพบเจอท่อระบายน้ำที่มีเศษวัสดุอุปกรณ์อยู่ในท่อระบายน้ำให้สามารถแจ้งเหตุได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ถนนร่วมเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องดูแลท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่มีความสำคัญ รวมทั้งขอให้กรมทางหลวงได้กำชับให้คณะกรรมการตรวจรับถนนได้ตรวจสอบสภาพถนนรวมถึงท่อระบายน้ำในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะและถนนศรีนครินทร์ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองก่อนการรับคืน เพื่อให้ท่อระบายน้ำมีสภาพพร้อมใช้งาน และสามารถเชื่อมต่อกับระบบระบายน้ำอื่น ๆ ในพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์


3. ปัญหาการทรุดตัวของถนน ขอให้กรมทางหลวงดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.ปากเกร็ด – ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการก่อสร้างในระยะยาว รวมทั้งแผนงานดังกล่าวควรรองรับระบบสาธารณูปโภคอื่นร่วมด้วย เช่น ระบบเครือข่ายท่อประปา ระบบเครือข่ายโทรศัพท์ ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน และระบบท่อระบายน้ำ เป็นต้น รวมถึงในช่วงเวลาที่ยังดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 ยังไม่แล้วเสร็จ ขอให้กรมทางหลวงจัดทำแผนงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทรุดตัวของถนนแจ้งวัฒนะในระยะเร่งด่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากการทรุดตัวของถนนได้อย่างทันท่วงที 4. กรณีจัดเตรียมแผนสำรองเมื่อไฟฟ้าดับ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมชลประทาน สำนักงานเขตในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ มีแผนงานที่ชัดเจนในการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้พร้อมใช้งานในทุกสถานการณ์ โดยมีทั้งแผนการตรวจสอบประจำวัน ประจำสัปดาห์ และประจำเดือน เป็นต้น รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนงานรองรับในช่วงสถานการณ์ไฟฟ้าดับ ทั้งนี้ เพื่อให้เครื่องสูบน้ำสามารถสูบน้ำและระบายน้ำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดการทำงาน 5. กรณีการเตรียมพื้นที่รับน้ำ ขอให้กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ จัดทำแผนปรับปรุงและพัฒนาคูคลอง ทางระบายน้ำ และแอ่งรับน้ำ ที่ชัดเจนว่า จะมีการปรับปรุงในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างไร รวมทั้งกำกับดูแลให้มีการดำเนินการขุดลอกคลองรับน้ำหลัก รวมถึงการกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการขุดลอก คู คลอง ประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดทางน้ำไหล เพิ่มประสิทธิภาพการรองรับน้ำและระบายน้ำในคลองเมื่อมีฝนตก รวมทั้งขอให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ รวมทั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำเมื่อฝนตกหนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น