“สาธิต” นำทีมคน ปชป.ร้อง หน.ปชป.สอบ กลุ่ม 16 ส.ส.แหกมติพรรค ยก 3 เหตุผล ทำพรรคสถาบันเสื่อมเสีย บี้เร่งสอบ-ลงโทษ แจงพฤติการณ์ยิบ เป็นปฏิปักษ์ ทำแตกแยก ผิดข้อบังคับพรรคร้ายแรง ซ้ำพูดจากลับกลอก ปมดีลเจรจา “ทักษิณ” ร่วม รบ.โดยพรรคไม่รู้เห็น
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อม นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต ส.ส.พรรค ปชป. น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ รักษาการกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค ยื่นหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. เพื่อขอให้ลงโทษผู้มีพฤติกรรมทำผิดข้อบังคับพรรคอย่างร้ายแรง ด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับพรรคด้วยการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม ส.ส.ของพรรคทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง และสร้างความแตกแยกในพรรค โดยระบุว่า นายสาธิต ในฐานะ กก.บห.พรรค รวมทั้งสมาชิกพรรค ปชป.อีกจำนวนหนึ่ง พบ ส.ส.ปชป.กระทำความผิดฝ่าฝืนข้อ 18 (1) และ (2) และข้อ 124 ของข้อบังคับพรรค พ.ศ. 2566 และจรรยาบรรณพรรค โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. นายเดชอิศม์ ขาวทอง และ นายชัยชนะ เดชเดโช รวมถึง ส.ส. ของพรรคและคนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คน ลงมติในที่ประชุมรัฐสภาขัดกับมติของ กก.บห.พรรคและที่ประชุม ส.ส.
โดยเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 ก่อนวันประชุมร่วมกันของรัฐสภากำหนดการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีนั้น พรรค ปชป. ได้มีมติของที่ประชุม ส.ส. ว่าให้ ส.ส. ของพรรค ปชป. ลงมติงดออกเสียง ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่ประชุมร่วมกับของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มี ส.ส. ของพรรค ปชป. ได้แก่ นายเดชอิสม์ ขาวทอง และ นายชัยชนะ เดชเดโช รวมถึง ส.ส. ของพรรคอีกรวม 16 คนโหวต “เห็นชอบ” เลือก นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ส.ค.นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง ส.ส. ของพรรคทั้ง 16 คน ได้ออกมาแถลงการณ์ต่อสื่อในลักษณะทำให้พรรคได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้พรรคเกิดความแตกแยกสามัคคีภายใน การกระทำของ นายเดชอิศม์ และ นายชัยชนะ รวมถึงกลุ่ม ส.ส.16 คน ซึ่งเป็นการทำขัดมติของพรรค เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค และกระทำความผิดข้อบังคับพรรคอย่างร้ายแรง เพราะตามข้อบังคับพรรคส.ส.ของพรรคซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ดังนี้
ข้อ 18 ระบุว่า “สมาชิกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับพรรค และมติคณะกรรมการบริหารพรรค
(2) รักษาชื่อเสียงของพรรคโดยไม่ปฏิบัติไปในทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค...”
ข้อ 96 ระบุว่า “ให้ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เป็นผู้ลงมติว่าจะจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลหรือถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่”
ข้อ 115 ระบุว่า “นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับตามหมวด 4 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกแล้ว ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติตามวินัย
ดังต่อไปนี้ ...
(6) ห้ามดำเนินการอื่นใดอันอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค....”
ข้อ 124 ระบุว่า “การลงโทษสมาชิกผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นจากสมาชิกภาพจะกระทำได้ต่อเมื่อปรากฎว่าสมาชิกผู้นั้นกระทำการให้พรรคเสียหายอย่างร้ายแรง หรือทำให้เกิดการแตกแยกสามัคคีภายในพรรค หรือผู้ถูกกล่าวหาได้ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือจรรยาบรรณของพรรค มติหรือคำสั่งของคณะกรรมการบริหารพรรค...”
2. การกระทำของ นายเดชอิศม์ สร้างความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรงนอกจากการกระทำความผิดของนายเดชอิศม์ ในข้อ 1. ข้างต้นแล้ว นายเดชอิศม์ ยังกระทำการสร้างความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรงด้วยการพูดจาไม่น่าเชื่อต่อสาธารณชน พูดกลับกลอกไม่มีความจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 นายเดชอิศม์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ กล่าวว่า ตนไม่ได้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบนายทักษิณเพียงแต่ไปฮ่องกงเพื่อแก้บนให้แก่ภรรยาเท่านั้น โดยไปหลายประเทศเนื่องจากได้บนไว้ให้ภรรยาชนะการเลือกตั้ง ส่วนได้ไปพบนายทักษิณ หรือไม่ ตนไม่ขอพูดดีกว่า และยังพูดถึงเรื่องการร่วมรัฐบาลต่อไปอีกว่า “ส.ส.ในกลุ่มของนายเดชอิศม์ จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมติพรรค และการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่จะเป็นมติของ กก.บห.พรรค กับ ส.ส.ปัจจุบัน เหมือนปี 2562 ที่มีการเถียงกัน 1 วัน 1 คืน สุดท้ายมีมติ 61 ต่อ 16 ให้ร่วมรัฐบาล ถ้าไปก็ไปทั้งพรรค และยืนยันจะไม่มีใครฉีกมติพรรค และไม่มีงูเห่าจากพรรคปชป.แน่นอน ภายใต้มติของกรรมการบริหารพรรค”
2.2 แต่ทว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายเดชอิศม์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ช่อง PPTV ยอมรับว่า ตนได้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบนายทักษิณและพูดคุยถึงการร่วมรัฐบาลจริง ในรายการมีการพูดถึงแนวทางการร่วมจัดตั้งรัฐบาลตอนหนึ่งว่า “จริงๆ หลักของ ปชป. การร่วมรัฐบาล ตนคิดคนเดียวไม่ได้ โดยหลักแล้ว 1.ต้องเทียบเชิญก่อน
2. กก.บห.พรรคประชุมร่วม ส.ส.25 คน รวม 52 คน ซึ่งการประชุมนี้ส่วนใหญ่ว่าอย่างไรถือเป็นมติพรรค” และกล่าวยอมรับว่า ตนได้เจอนายทักษิณที่ฮ่องกงจริง เมื่อโดนถามว่า ไปฮ่องกงไหมจึงตอบว่า “ไป ซึ่งเป็นช่วงวันเกิดนายทักษิณพอดี ส่วนเจอนายทักษิณหรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า เจอครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ตนไม่อยากพูดเพราะกลัวว่านายทักษิณ หรือใครก็ตามจะเสียหาย ซึ่งนายทักษิณสนิทสนมกับตนส่วนตัว เพราะตนเคยลงสมัครพรรคไทยรักไทยปี 2548 ซึ่งตนก็ไม่มีความแค้นส่วนตัวกับใครอยู่แล้ว” และยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ส่วนตัวผมจริงๆ ผมอยากให้ร่วมรัฐบาล เพื่อแนวคิดของเราอยากแก้ปัญหาประชาชนจะแก้ได้”
ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริง พรรค ปชป. ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และพรรค ปชป. ก็ไม่เคยมีมติเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ แต่อย่างใด ซึ่งหากพรรค ปชป. จะเข้าร่วมรัฐบาลนั้น จะต้องมีมติพรรคจัดตั้งรัฐบาล หรือเข้าร่วมรัฐบาล และจะต้องมีการแต่งตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกรณีดังเช่น นายเดศอิศม์ จะสามารถดำเนินการเจรจาโดยการตัดสินใจเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ การกระทำของ นายเดชอิศม์ จากข้อเท็จจริงในข้อ 2.1 และ 2.2 ข้างต้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่านายเดชอิศม์ พูดจากลับไปกลับมา และการเข้าไปพูดพบนายทักษิณเพื่อพูดคุยเรื่องการร่วมรัฐบาลนั้นทำให้พรรค ปชป. เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง และสร้างความไม่น่าเชื่อถือต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว นายเดชอิศม์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นถึง ส.ส.ของพรรค ปชป. พึงดำรงตนปฏิบัติตามข้อบังคับ พรรคและมติของพรรค รวมถึงจรรยาบรรณของพรรคอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนและสมาชิกพรรคคนอื่น ดังนั้น การกระทำของนายเดศอิศม์ จึงเป็นเหตุสมควรให้ได้รับการลงโทษตามข้อ 124 ของข้อบังคับของพรรค
3. นายเดชอิศม์ และ นายชัยชนะ เคยกล่าวว่า ต้องทำตามมติพรรค แต่ต่อมาตนกับพวกกลับกระทำการฝ่าฝืนมติพรรค เป็นการพูดไม่ตรงกับการกระทำ ไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาชื่อเสียงพรรค ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพรรค และทำให้พรรคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามที่ก่อนหน้านี้ นายเดชอิศม์ และ นายชัยชนะ เคยกล่าวว่า สมาชิกพรรคทุกคนจะต้องทำตามมติพรรค หากใครลงคะแนนเสียงขัดมติพรรคจะต้องลาออก แต่ทว่าต่อมา ตนและพวกกลับดำเนินการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีผ้าฝืนมติพรรคโดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการพูดไม่ตรงกับการกระทำ ไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาชื่อเสียงพรรค ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพรรค และอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งกรณีเป็นเหตุให้พรรคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ การกระทำทั้งหมดดังที่ได้เรียนข้างต้นของนายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ กับ 16 ส.ส. ทำให้เห็นว่า เจตนาของ ส.ส.ทั้งหมดในการแหกมติเป็นการส่อให้เห็นว่าอยากร่วมรัฐบาล แม้ว่าพรรค จะไม่ได้มีมติให้เข้าร่วม ยิ่งเป็นการตอกย้ำและทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาและความนิยมต่อพรรคอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่เรียนในข้อ 1 ถึงข้อ 3 ข้างต้น การกระทำของนายเดชอิศม์ และกลุ่ม 16 ส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน ฝ่าฝืนมติของ กก.บห.พรรคและที่ประชุม ส.ส. เนื่องจากพรรคไม่เคยมีมติหรือเห็นชอบในการเข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด และพรรคก็ได้มีมติอย่างชัดเจนว่า จะลงคะแนนเสียงในการให้ความเห็นชอบบุคลชื่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากข้อเท็จจริงในกรณีนี้ นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวม 16 ส.ส. เป็นการกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต จงใจกระทำการฝ้าฝืนกับข้อบังคับพรรคด้วยการฝ่าฝืนมติของ กก.บห.พรรค และที่ประชุม ส.ส. อีกทั้งเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรค ทำให้เกิดการแตกแยกสามัคคีภายในพรรคและทำให้พรรคที่มีอุดมการณ์มั่นคงมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนานนั้นได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง เสื่อมศรัทธาและคะแนนนิยมของประชาชน ทำให้พรรคได้รับความเสียหายร้ายแรงอย่างชัดเจนจึงเป็นการกระทำความผิดข้อบังคับข้อ 18, 96, 115 และ 124 ด้วยเหตุผลดังที่เรียนไว้ในข้างต้นนี้ ขอให้รักษาการหัวหน้าพรรคตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลงโทษ นายเดชอิศม์และกลุ่ม 16 ส.ส. ที่ทำผิดข้อบังคับพรรคฝ่าฝืนมติ กก.บห.พรรคและที่ประชุม ส.ส. และทำให้พรรคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับพรรคด้วย