xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่างเอกสารผลลัพธ์ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง 21 ฉบับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง 21 ฉบับ

วันนี้ (23ส.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 ฉบับ โดยอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 มีกำหนดจัดการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 2-7 กันยายน 2566 นี้ โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ดังนี้

1) เอกสารที่ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันรับรอง จำนวน 17 ฉบับ ประกอบด้วย
- ฉบับที่ 1 ร่างปฏิญญาจาการ์ตา “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” เป็นเอกสารผลลัพธ์หลักของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 โดยเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้ความสาคัญต่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยยึดมั่นในหลักการที่จะร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ การรักษาความสำคัญของบทบาทอาเซียนในภูมิภาค การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโต และการดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

- ฉบับที่ 2-6 กลุ่มเอกสารของผู้นำอาเซียน และประเทศสมาชิกในการแสดงเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อาทิ ด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของอาเซียน การดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย การพัฒนาที่ครอบคลุมถึงความพิการ และความเสมอภาคระหว่างเพศและการพัฒนาครอบครัว

- ฉบับที่ 7-10 กลุ่มร่างเอกสารเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตของประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศภาคี คู่เจรจา ประกอบด้วย ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน - ออสเตรเลียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน - แคนาดาว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ และร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน – อินเดียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ

- ฉบับที่ 11-16 กลุ่มร่างเอกสารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศภาคีคู่เจรจาในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - แคนาดา ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน – อินเดียว่าด้วยความร่วมมือทางทะเล ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (อาเซียน - จีน) ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน - สหรัฐฯ ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน - ญี่ปุ่น และ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 24 ว่าด้วยความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP)

- ฉบับที่ 17 ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการรักษาและส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนและเอเชียตะวันออก

2) ร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย

- ฉบับที่ 18-19 ร่างหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เป็นเอกสารที่ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนามเพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญา TAC ของเซอร์เบีย และคูเวต

- ฉบับที่ 20-21 ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 21 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม.178 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเป็นไปตามเงื่อนไขของ ม.169 ของรัฐธรรมนูญ คือ ไม่เป็นกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป และร่างเอกสารทั้ง 21 ฉบับ เป็นร่างเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาในการส่งเสริมความร่วมมือ และต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อไทยแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น